รู้ก่อนรับมือก่อน! รู้จักภาวะ ‘Sunday Night Blues’ จากความร่าเริงในวันหยุด กลับกลายเป็นความหดหู่ในค่ำคืนวันอาทิตย์ Padthai.co มาแชร์ลิสต์ 11 เทคนิครับมือกับภาวะนี้ พร้อมฮีลใจให้สดใสด้วยเทียนหอมที่จะให้คุณผ่านค่ำคืนวันอาทิตย์ได้แบบชิลๆ
เสาร์-อาทิตย์ ผ่านไปไวเหมือนโกหก พอถึงคืนวันอาทิตย์ทีไร หดหู่ใจทุกที หากใครมีอาการเช่นนี้บ่อยๆ คุณอาจเข้าข่าย ‘Sunday Night Blues’ ภาวะหดหู่ในคืนวันอาทิตย์ โดยไม่รู้ตัว
‘Sunday Night Blues’ หรือบางทีก็เรียกว่า ‘Sunday Blues’ หรือ ‘Sunday Scaries’ คือ ภาวะหดหู่ในค่ำคืนวันอาทิตย์ เป็นความรู้สึกกลัวหรือกังวลในบางช่วงเวลาของคืนวันอาทิตย์ว่าวันหยุดกำลังจะหมดไป และอีกไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องกลับเข้าสู่โหมดการทำงานเต็มตัวไปอีกทั้งสัปดาห์ ซึ่งภาวะเศร้าๆ นี้ก็ไม่ได้จัดเป็นภาวะผิดปกติในทางจิตวิทยา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ‘Sunday Night Blues’ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาบางอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น กำลังรู้สึกเบื่องานที่ทำ มีความกังวลกับงานที่ทำอยู่ หรือเบื่อสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน จึงรู้สึกว่าการทำงานเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งที่ไม่อยากกลับไปเจอก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี ความรู้สึกหดหู่ในวันอาทิตย์ก็อาจเกิดขึ้นได้กับคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องงาน หรือออกจะชอบงานที่ทำอยู่ด้วยซ้ำ สรุปง่ายๆ ว่า ไม่ว่าใครก็มีภาวะ ‘Sunday Night Blues’ ได้หมด และเพียงแค่คิดว่าพรุ่งนี้วันจันทร์ก็จะเกิดอาการหดหู่ขึ้นมาทันที
อาการ ‘Sunday Night Blues’
- นอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก เพราะต้องการใช้เวลาวันอาทิตย์ให้มากที่สุด
- หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกกังวลเมื่อนึกถึงวันจันทร์
- เครียดหนักเมื่อคิดถึงภาระจนร้องไห้
10 วิธีรับมือกับอารมณ์หดหู่ในคืนวันอาทิตย์
1. พยายามหาสาเหตุที่ทำให้เราเศร้า และแก้ไขมันซะ
การแก้ปัญหาที่ดีสุดคือการแก้ไขสาเหตุของปัญหานั้นๆ หากรู้ตัวแล้วว่ามีอาการ ‘Sunday Night Blues’ แน่ๆ ก็ลองพิจารณาใจตัวเองดูว่ากำลังกลัวหรือกังวลถึงสิ่งไหนอยู่ เช่น บางคนอาจกลัวการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรเตรียมตัวในการประชุมให้ดี และคิดซะว่าถ้าผ่านพ้นไปได้ก็สบายแล้ว หรือหากบางคนกังวลถึงงานกองโตที่ต้องไปสะสาง ก็เตรียมใจแล้วไปลุยให้เสร็จในสัปดาห์ที่จะถึงนี้เลย
2. สร้างสมดุลชีวิตให้ตัวเอง
จัดการกับ Work-Life Balance ให้ดี โดยแยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวให้ชัด พยายามจัดการงานให้จบในเวลาทำงาน และอย่าหอบงานกลับมาทำที่บ้าน หรือทำงานเกินเวลาจนกลืนกินชีวิตส่วนตัวไปหมด
ที่สำคัญในเวลาพักผ่อนก็พยายามอย่าคิดเรื่องงาน เวลาพักขอให้ได้พัก เมื่อถึงวันหยุดก็ควรได้หยุดพักผ่อนจริงๆ ชาร์จแบตตัวเองเอาไว้ วันจันทร์จะได้มีพลังกายและพลังใจลุยต่อ
3. ปิดการแจ้งเตือนเรื่องงานในวันพักผ่อน
อีกหนึ่งทริคที่ช่วยให้เราหยุดคิดเรื่องงานในวันหยุดได้ก็คือปิดการติดต่อสื่อสารไปเลย โดยไม่เปิดอีเมล ไม่เปิดคอมพิวเตอร์ ไม่ทำทุกอย่างเหมือนวันทำงาน หรือหากบริษัทไหนชอบสั่งงานทางแอปพลิเคชันการสื่อสารต่างๆ อย่าง Line หรือ Telegram ก็ปิดแจ้งเตือนกรุ๊ปและแชตเจ้านายไปบ้างก็ได้ อย่าลืมว่าเราเองก็มีวันหยุดพักผ่อนด้วยเหมือนกัน และการไม่ทำงานในวันหยุดก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด
4. กำหนดสิ่งที่อยากทำในวันหยุด
เพื่อสนับสนุนให้วันพักผ่อนเป็นวันพักผ่อนจริงๆ ก็ลิสต์กิจกรรมที่อยากทำในวันหยุดไปเลย เช่น ตั้งใจจะดูซีรีส์สักเรื่องให้จบ หรือจัดห้อง เปลี่ยนมุมในบ้าน หรือออกไปช้อปปิ้ง ไปเที่ยวใกล้ๆ มีความสุขกับวันหยุดให้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยคลายความเครียด ความเหน็ดเหนื่อยที่สั่งสมมาตลอดทั้งสัปดาห์ และทำให้รู้สึกว่าเสาร์-อาทิตย์เป็นวันที่เราได้พักผ่อนจริงๆ
5. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
อย่างที่บอกว่า ‘Sunday Night Blues’ อาจเกิดจากปัญหาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานก็ได้ ดังนั้นหากเรามีเพื่อนที่ทำงานเหมือนเพื่อนสนิทที่สามารถคุยกันได้ทุกเรื่องราว ปรับทุกข์ซึ่งกันและกันได้ อาจช่วยให้การทำงานน่าเบื่อน้อยลงได้ และแม้งานจะยาก งานจะเครียด หรือได้ทำงานที่ไม่อยากทำ การมีเพื่อนที่ทำงานคอยให้คำปรึกษาก็อาจเป็นวิธีช่วยให้เรามีความสุขกับการทำงานมากขึ้นได้ และวันจันทร์ก็อาจไม่น่าเบื่ออีกต่อไปด้วย
6. ผ่อนคลายเมื่อรู้สึกกังวล
หากมีอาการกังวลหรือหดหู่ในช่วงบ่ายๆ หรือเย็นวันอาทิตย์ ให้ลองหากิจกรรมผ่อนคลายทำ เช่น เดินเล่นชมธรรมชาติ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นกับสัตว์เลี้ยง ปลูกต้นไม้ นั่งสมาธิ กินอาหารมื้อพิเศษ หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ทำให้จิตใจสงบและเป็นสุข
7. หาความตื่นเต้นท้าทายในวันอาทิตย์
วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยลดความรู้สึกเบื่อได้คือการท้าทายขีดความสามารถของตัวเอง อย่างบางคนอาจลองทำเมนูอาหารสูตรใหม่ บางคนอาจลองเพิ่มทักษะใหม่ให้ตัวเอง หรืออาจจะแค่โหลดเกมใหม่มาเล่นแล้วตะลุยด่านต่างๆ ไปก็ยังได้ เคล็ดลับพวกนี้จะช่วยเพิ่มความสนุกท้าทายให้ไม่รู้สึกเหงาหงอยในวันอาทิตย์อีกต่อไป
8. อยู่ห่างจากโซเชียลบ้างก็ดี
เชื่อไหมว่าการไถ feed ในโซเชียลไปเรื่อยๆ อาจเพิ่มความเครียดให้ตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว เพราะบางคนเสพสื่อแล้วก็เอามาเปรียบเทียบกับตัวเอง หรือติดตามดราม่าจนดูดซับความรู้สึกแย่ๆ มาใส่สมองโดยไม่จำเป็น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ลองห่างกันสักพักกับโซเชียลมีเดียดูสักพัก
9. การนอนสำคัญ
การศึกษาพบว่าการนอนไม่เพียงพอมีผลเสียต่อร่างกาย น้ำหนักเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตรายในการใช้อินซูลินของร่างกาย ส่งผลโดยตรงถึงด้านจิตใจ แสดงให้เห็นว่าการนอนหลับไม่เพียงพอทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น แนะนำว่าให้พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันเพื่อช่วยกำหนดนาฬิกาตามธรรมชาติของร่างกาย
10. คุยกับนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญ
อาการ ‘Sunday Night Blues’ อาจเป็นสัญญาณที่มากกว่าแค่การเบื่อหน่าย การได้คุยหรือปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลเพื่อหาทักษะการรับมือที่ดี ดีซะอีกที่มีคนให้พูดคุย ได้ระบายอะไรบางอย่างที่เราไม่สามารถบอกใครได้เพื่อปลดล็อกอะไรบางอย่างในใจ และขอให้เข้าใจตรงกันว่า ผู้ที่ไปพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด เพราะทุกคนสามารถรับการปรึกษาได้ทั้งสิ้น บางคนอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่บ้านหรือที่ทำงานที่เป็นพิษ หรืออาจมีบาดแผลในอดีตหรือประสบการณ์เชิงลบอื่นๆ ซึ่งหากมีความรู้สึกซึมเศร้า หดหู่ หรือตึงเครียดตลอดเวลา ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อคลายความกังวลและรับการรักษาอย่างถูกวิธี
11. ฮีลใจให้คลายกังวลด้วยเทียนหอมหลากหลายแนวกลิ่น
หากต้องการผ่อนคลายด้วยวิธีง่ายๆ รวดเร็ว และทำได้ทุกที่ทุกเวลา เทียนหอมกลิ่นโปรดคือไอเท็มที่ช่วยบำบัดอารมณ์และร่างกายให้คลายความกังวลจากภาวะ ‘Sunday Night Blues’ ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีภายในบ้านได้อีกด้วย และนี่คือ 10 เทียนหอมหลากหลายแนวกลิ่นที่เรารวบรวมมาแล้วว่าช่วยฮีลใจให้คุณได้ในค่ำคืนวันอาทิตย์
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF DIPTYQUE, FORVR MOOD, ILLUME, JO MALONE, LLADRÓ, LOEWE, NEST NEW YORK, OTHERLAND, OVEROSE, TOM FORD
STOCK PHOTO: www.pexels.com
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่