Longines Spirit ได้กลับมาอีกครั้งกับคอลเลกชันเรือนเวลารุ่นใหม่ นำเสนอความแม่นยำในการจับเวลาที่ยกระดับขึ้นอีกขั้น
ปี 2020 Longines (ลองจินส์) ได้เปิดตัวคอลเลกชัน Longines Spirit (ลองจินส์ สปิริต) เรือนเวลาสำหรับนักบินอันเป็นการอุทิศให้กับจิตวิญญาณแห่งการบุกเบิกผู้กล้าหาญในอดีตผู้มีเรือนเวลา Longines ในภารกิจประวัติศาสตร์ และได้กลายเป็นอีกหนึ่งคอลเลกชันที่ได้รับความนิยมจากแฟนนาฬิกาตั้งแต่บัดนั้น ปีนี้กลับมาอีกครั้งกับคอลเลกชันเรือนเวลารุ่นใหม่ Longines Spirit Flyback นำเสนอความแม่นยำในการจับเวลาที่ยกระดับขึ้นอีกขั้นกับฟังก์ชัน flyback chronograph (ฟลายแบค โครโนกราฟ) พร้อมการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยภายใต้การเชื่อมโยงเรื่องราวการผจญภัยน่าประทับใจจากอดีตสู่ช่วงเวลาปัจจุบัน
ฟังก์ชันโครโนกราฟ flyback อันเป็นฟังก์ชันที่หยิบยกมานำเสนอในเรือนเวลาคอลเลกชัน Longines Spirit รุ่นใหม่นี้ ถือได้ว่าเป็นระบบกลไกที่เชื่อมโยงความเป็นมรดกตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันของ Longines ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในอดีตจะทราบว่า Longines ได้เคยสร้างสรรค์เรือนเวลาโดยเพิ่มระบบการจับเวลาแบบ flyback ให้กับเรือนเวลารุ่นแรกๆ ของตนเองเมื่อปี 1925 โดยมีการยื่นจดสิทธิบัตรในวันที่ 12 มิถุนายน 1936 และหลังจากนั้นในวันที่ 16 มิถุนายน 1936 Longines ได้ยื่นจดสิทธิบัตรนาฬิกาพร้อมระบบจับเวลา flyback เรือนแรกของโลก ด้วยความสามารถในการจับเวลาการบินที่แตกต่างกันได้อย่างถูกต้องของฟังก์ชัน ทำให้เหล่านักบินสามารถที่จะใช้งานนาฬิกาได้อย่างสะดวกสบายและสามารถปฏิบัติภารกิจการสำรวจทางอากาศได้อย่างราบรื่นสมบูรณ์
อีกทั้งนักบุกเบิกระดับตำนานหลายคนยังมอบความไว้วางใจให้ Longines ได้เป็นส่วนหนึ่งในฐานะอุปกรณ์ที่ช่วยให้พวกเข้าทำความฝันให้กลายเป็นจริง อย่างเช่นกรณีของ Richard Byrd (ริชาร์ด ไบร์ด) หนึ่งในนักบุกเบิกแถวหน้าที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างสรรค์เรือนเวลาอันเชี่ยวชาญของ Longines โดยในปี 1928 เขาได้เริ่มต้นภารกิจแรกในการสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา และต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 1929 เขาและลูกเรือได้บังคับเครื่องบิน Ford Trimotor (ฟอร์ด ไทรมอเตอร์) จากฐานทัพ “Little America” (ลิตเติล อเมริกา) เพื่อทำภารกิจบินข้ามขั้วโลกใต้ โดยใช้ระยะทางประมาณ 1,290 กิโลเมตรเพื่อให้ถึงจุดหมาย โดยมีอุปกรณ์ช่วยเหลือคือเข็มชี้ทิศดวงอาทิตย์ และนาฬิกา Longines อยู่เคียงข้างในภารกิจดังกล่าว และ Richard คือชายคนแรกที่ปฏิบัติภารกิจนี้ได้สำเร็จหลังจากการบินอันเสี่ยงภัยยาวนานเกือบ 19 ชั่วโมง หลังจากนั้น Richard ก็ได้ปฏิบัติภารกิจการสำรวจในทวีปแอนตาร์กติกาอีก 3 ครั้ง ซึ่งรวมถึงภารกิจหนึ่งในปี 1939 โดยเขาได้สวมนาฬิกา Longines 13ZN ที่มาพร้อมฟังก์ชั่น flyback อีกด้วย
ตัวเรือนสเตนเลสสตีลทรงกลมขนาด 42.0 มิลลิเมตร หนา 17.0 มิลลิเมตร กันน้ำได้ลึก 100 เมตร ขอบตัวเรือนเซรามิกที่หมุนได้สองทิศทางปรากฏใน 2 โทนสีคือสีดำและสีน้ำเงิน เช่นเดียวกับพื้นหน้าปัดขัดลายซันเรย์ที่รังสรรค์ในโทนสีดำและน้ำเงิน ตัวเลขเลขอารบิกแทนหลักชั่วโมงและเข็มนาฬิกาบรอนซ์เคลือบสาร Super-LumiNova® (ซุปเปอร์ลูมิโนวา) เพื่อการมองเห็นในสภาวะแสงน้อย
ภายในทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟระบบ column-wheel (คอลัม วีล) Cal. L791.4 อันเป็นกลไกเอ็กซ์คลูซีฟใหม่ ที่สามารถต้านทานแรงดึงดูดแม่เหล็กได้เป็นอย่างดี พร้อมด้วยซิลิคอน บาลานซ์ สปริง ช่วยสร้างความแม่นยำถึงขีดสุด ทำงานด้วยความถี่ 25,200 ครั้งต่อชั่วโมง และมีกำลังลานสำรองถึง 68 ชั่วโมง
รวมถึงได้รับการรับรองระดับมาตรฐานโครโนมิเตอร์โดยสถาบัน COSC ปกปิดด้วยฝาหลังกรุกระจกโปร่งใส เผยรายละเอียดของกลไก รวมถึงสลักสัญลักษณ์รูปโลกซึ่งเป็นตัวแทนของคอลเลคชัน และสลักชื่อ Longines Flyback ซึ่งเป็นครั้งแรกของไลน์นาฬิกานี้ด้วย
สวมใส่พร้อมสายที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ทั้งสายสเตนเลสสตีล สายหนังสีน้ำตาล หรือสายผ้าสีน้ำเงิน ซึ่งสายนาฬิกามาพร้อมระบบล็อกแบบ micro-adjustment (ไมโคร แอดจัสต์เม้นท์) รูปแบบใหม่เพื่อการสวมใส่ที่สบายถึงขีดสุด นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนเป็นสายนาโตสีเบจได้ด้วย
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF LONGINES
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่