สัมผัสความวิจิตรงดงามและเรื่องราวอันลึกล้ำผ่านนิทรรศการ Twilight Zone : แดนสนธยา ๓ การจัดแสดงผลงานในรอบสี่ปีของศิลปินแห่งชาติผู้ทรงคุณค่า ช่วง มูลพินิจ
หากคุณคือผู้ที่หลงใหลในศิลปะและความวิจิตรชดช้อยของลายไทย ชอบใจในเรื่องราวของมนุษย์ ธรรมชาติ สัจจธรรมในชีวิต ไปจนถึงกรอบคิดทางศาสนา Padthai.co ขอแนะนำว่าโปรแกรมดีๆ ของคุณในช่วงสุดสัปดาห์นี้คือการไปเยี่ยมเยือนนิทรรศการ Twilight Zone : แดนสนธยา ๓ การจัดแสดงผลงานครั้งใหม่ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) ของช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติผู้คร่ำหวอดในวงการจิตรกรรม
นิทรรศการชุดแดนสนธยา ๓ เป็นการจัดแสดงผลงานครั้งใหญ่อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 4 ปีของช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติด้านทัศนศิลป์ สาขาจิตรกรรม ประจำปีพ.ศ. 2556 ที่รวบรวมผลงานหลากหลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพวาดสีน้ำมัน ภาพพิมพ์ ลายเส้น รวมถึงงานประติมากรรมที่มากด้วยรายละเอียดมาจัดแสดงให้ได้ชมกัน โดยได้รับเกียรติจากประธานรัฐสภาคุณชวน หลีกภัย มาเป็นประธานในการเปิดงานนิทรรศการในปีนี้
โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ช่วงได้มีโอกาสนำเสนอผลงานในนิทรรศการชุดก่อนหน้าอย่าง แดนสนธยา ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ถนนราชดำเนิน เมื่อปีพ.ศ. 2556 และ แดนสนธยา ๒ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) ไปเมื่อช่วงปีพ.ศ. 2559
การกลับมาในครั้งนี้ของศิลปินอาวุโสผู้ทรงคุณค่ายังคงเต็มไปด้วยความน่าสนใจ ผ่านผลงานสุดวิจิตรที่แฝงแง่คิด ปรัชญาชีวิต และอุดมคติที่ชวนให้สะท้อนมองความเป็นมนุษย์ โดยประยุกต์เส้นสายลายไทยเข้ากับรูปทรงเสมือนจริงอย่างละเอียดละออ จนศิลปินแห่งชาติสาขางานเขียนอย่างรงค์ วงษ์สวรรค์ เคยได้ให้ฉายากับช่วงไว้ว่าเขาคือ ‘จิตรกรที่มองเห็นมดยิ้ม’ เพราะช่วงละเอียดอ่อนจนสามารถมองสัตว์ที่เล็กจิ๋วอย่างมดแย้มยิ้มได้
แต่ชื่อ ‘แดนสนธยา’ ที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อนิทรรศการ ไม่ได้หมายความถึงคอนเซ็ปต์ของตัวงานอย่างที่ใครหลายๆ คนเข้าใจ เพราะสำหรับช่วงแล้วเขามองว่า ศิลปะยืนยาวและไม่มีกาลเวลา อยู่คู่กันกับมวลมนุษย์ไปได้ตลอด ต่างจากชีวิตที่เปรียบเสมือนช่วงวัน เมื่อตกเย็น โพล้เพล้ย่ำสนธยา พอพระอาทิตย์ลับฟ้าแล้ว ก็มิได้มีอะไรยืนยันแน่นอนว่าเราจะได้ตื่นขึ้นมาเห็นแสงในวันใหม่อีกสักกี่วัน
ช่วงจึงให้คำนิยามว่าแดนสนธยา อันเป็นชื่อนิทรรศการนั้น หมายถึงตัวของเขาที่ใช้ชีวิตและสร้างงานศิลป์มานานร่วม 8 ทศวรรษ หากเปรียบเป็นวันเวลา ช่วงชีวิตนี้ก็เป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ดวงอาทิตย์ใกล้จะลาลับฟ้าเต็มที โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงภายในงานเป็นผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตลอดช่วงชีวิตของเขาที่ได้มีการรวบรวมเอาไว้และบอกเล่าถึงแนวคิดเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิต
ผลงานของช่วง มูลพินิจ ในปีนี้ ยังคงโดดเด่นด้านการหยิบเอาเทคนิคลายเส้นและสีสันที่อ่อนช้อย ลายไทยอันวิจิตรงดงาม รวมทั้งองค์ความรู้ด้านพุทธปฏิมาและวรรกรรมมาประยุกต์ ต่อยอด บูรณาการและผสมผสานเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างงดงามลงตัว ส่งต่อความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และชวนให้ผู้ชมมองลึกลงไปภายใต้ลายเส้นและสีทองอร่ามตาซึ่งถูกใช้เป็นเฉดสีหลัก ว่าแฝงเร้นประเด็นปรัชญาหรือเรื่องราวทางศาสนาใดไว้
การเดินชมผลงานภายในห้องจัดแสดงจึงราวกับผู้ชมกำลังเดินท่องเที่ยวไปในแดนสนธยาอันเร้นลับที่สรรพสิ่งรอบกายล้วนแต่แปลกใหม่ และชวนให้ผู้ชมได้หันกลับมาใคร่ครวญและทบทวนเกี่ยวกับจิตใจ ความดีความงาม และความเป็นมนุษย์ของตนเอง
โดยนอกจากผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ ในนิทรรศการครั้งนี้ยังนำภาพร่างและแนวคิดตั้งต้นในการออกแบบผลงานแต่ละชิ้น ทั้งแบบร่างภาพจิตกรรมและประติมากรรมในรูปแบบที่หลากหลายมารวบรวมและจัดแสดงเอาไว้เพื่อให้นักเรียนศิลปะที่กำลังศึกษาเทคนิคและวิธีคิดในการสรรค์สร้างผลงาน รวมทั้งบุคคลทั่วไปได้ศึกษาเป็นแบบอย่างอีกด้วย
นิทรรศการชุด แดนสนธยา ๓ โดยช่วง มูลพินิจ เปิดให้เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้จนถึง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ณ ห้องจัดแสดงชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตรงข้ามศูนย์การค้า MBK CENTER รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพ.ศ. 2556 จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานในช่วงแรกเป็นภาพลายเส้นที่นำความอ่อนช้อยของลายไทยมาประยุกต์เข้ากับรูปทรงเสมือนจริงโดยต่อมาได้พัฒนามาใช้เทคนิคสีน้ำและสีน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่แสดงถึงเรื่องราวของดอกไม้ แมลง สัตว์ และมนุษย์ ทั้งในแง่อิโรติก และการมองเห็นวัฎสงสารของชีวิต อันเป็นการตกผลึกเรื่องราวทางอุดมคติกับธรรมชาติที่งดงาม แนบเนียน และลงตัว
นอกจากนี้ช่วง มูลพินิจ ยังมีผลงานออกแบบและปั้นเกี่ยวกับศาสนาอีกหลายชิ้น อาทิ การออกแบบและปั้น พระพุทธอภัยมงคลสมังคี ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำไปพระราชทานแก่ทุกจังหวัดในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
การออกแบบตัวหนังสือชื่อเรื่องและโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในแนววรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านของไทยอย่างแผลเก่า เลือดสุพรรณ ไกรทองและกากี รวมทั้งการเขียนภาพประกอบในหนังสือและนิตยสารชื่อดังในยุคนั้นมากมาย โดยมีจุดเริ่มต้นจากการได้รับคำชวนจากส. ศิวรักษ์ให้มาวาดภาพประกอบในหนังสือสยามสมัย จนถึงการได้เขียนลายเส้นบนหน้าปกหนังสือเสเพลบอยชาวไร่ ของรงค์ วงษ์สวรรค์ และหน้าปกหนังสือกามนิต วาสิฏฐี นวนิยายเกี่ยวด้วยพุทธศาสนาทางลัทธิมหายานอันเลื่องชื่อ
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF BACC
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- I Need a Life Coach : หรือชีวิตจะไม่ต้องการไลฟ์โค้ช ? นิทรรศการศิลปะจาก โน้ต อุดม แต้พานิช ที่ซ่อนแนวคิดดีๆ ไว้ ภายใต้ผลงานศิลปะสีสันจี๊ดจ๊าดหลากหลายสไตล์ ที่จะพาคุณไปรู้จัก โน๊ต อุดม แต้พานิช ในแง่มุมที่มากกว่าการเป็น Stand up Comedian
- ทำความรู้จักตนเองผ่านเด็กชายหลายตา พูดคุยกับ KARMS ก้าม ธรรมธัช สายทอง และผลงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาร่วมกับ Trendy Gallery ในนิทรรศการ ROOM 063 By KARMS ที่ River City Bangkok
- ผจญภัยไปในทุกช่วงเวลาของ Pomme Chan ใน Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be นิทรรศการศิลปะครั้งใหม่ของปอม ที่รวบรวมผลงานตลอด 20 ปีบนเส้นทางนักออกแบบ ก่อนที่เธอจะขยับขยาย และเดินทางไปในก้าวย่างต่อไปของชีวิตในฐานะนักธุรกิจ
- ชนชั้นและศิลปะ การเติบโต และรอยทรงจำในความเคลื่อนไหว เอนหลัง นั่งคุยกับ เอก พิชัย แก้ววิชิต เกี่ยวกับ The memoir of movement นิทรรศการภาพถ่ายครั้งใหม่ที่ River City Bangkok
- จากฮงแด สู่พระโขนง! สัมผัสความหลากหลายอันไร้ขีดจำกัด และเจตจำนงในการขยายฐานผู้ชมงานศิลปะของศิลปินเกาหลีสู่เมืองไทย ของยูกีแท ผู้ก่อตั้ง Placemak Art Community ที่มีจุดเริ่มต้นจากร้านเหล้าย่านฮงแด เกาหลีใต้ ในนิทรรศการกลุ่มไทย-เกาหลี Makmak Exhibition : มากมาก (막막) นิทรรศการเปิดตัว Placemak bkk พระโขนง