คุยกับโบว์ ปัณฑิตา มีบุญสบาย และ Story of My Mind นิทรรศการศิลปะที่จะพาผู้ชมไปผจญภัยในไพ่ทาโร่ต์หลากความหมายทั้ง 22 ใบพร้อมกับเด็กสาวภายใต้เสื้อคลุมสีแดง
เมื่อเอ่ยชื่อของโบว์ ปัณฑิตา มีบุญสบาย ศิลปินอิสระเลือดใหม่วัย 25 ปี คอศิลปะและใครหลายๆ คนมักจะนึกถึงผลงานภาพวาดสุดเซอร์เรียลที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและรายละเอียด แต่สำหรับโบว์แล้ว เธอให้คำจำกัดความว่าผลงานของเธอคืองานแนวแฟนตาซีอาร์ต เช่นเดียวกับ 22 ผลงานภาพวาดบนไพ่ทาโร่ต์ ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธออย่าง Story of My Mind ที่ River City Bangkok ที่เรากำลังจะพาทุกคนไปสัมผัสในวันนี้
งานนิทรรศการครั้งนี้นับเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของโบว์ที่ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานยาวนานถึง 2 ปีเต็ม โดยเรียบเรียงจากประสบการณ์ส่วนตัวและเรื่องราวในชีวิต สู่นิทานที่เป็นเสมือนไดอารี่ภาพ ในรูปแบบไพ่ทาโร่ต์สำรับใหญ่ หรือ Major Arcana ซึ่งเป็นไพ่ที่มีชื่อหรือหมายเลขในชุดไพ่ทาโรต์คาร์โตมันติกจำนวน 22 ใบ มาเล่าถึงการผจญภัยในชีวิตของเธอ
“ที่จริงแล้วเรื่องราวในนิทรรศการครั้งนี้เคยถูกวางไว้ให้เป็นโปรเจกต์ในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทของเรา แต่หลังจากโบว์ตัดสินใจลาออกเพราะรู้สึกว่าระบบการศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์บางอย่างในใจได้ โปรเจกต์นี้ก็เลยถูกนำกลับมาพัฒนาใหม่อีกครั้งจนออกมาเป็นเรื่องราวในไพ่ทั้ง 22 ใบ โดยเลือกหยิบชื่อของไพ่แต่ละใบมาเล่าเรื่องราวในแบบของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ยังคงองค์ประกอบและแก่นเดิมของไพ่แต่ละใบเอาไว้ด้วย”
เรื่องราวในไพ่ทั้ง 22 ใบ ถูกร้อยเรียงโดยเริ่มจากไพ่หมายเลข 0 อย่าง The Fool ที่เธอเปรียบชีวิตและการเริ่มเข้ามาเรียนศิลปะของตนเอง เป็นเสมือนการเริ่มโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ไปจนถึงจุดสิ้นสุดในไพ่หมายเลข 21 อย่าง The World เราจึงสามารถค่อยๆ มองเห็นตัวตนรวมถึงการเติบโตของโบว์ได้อย่างชัดเจนผ่านไพ่แต่ละใบ
เช่นในภาพไพ่หมายเลข 10 อย่าง Wheel of Fortune ที่โบว์อธิบายไว้ว่า หญิงสาวในภาพไม่ได้ถูกปิดตาจนทำให้ดูมีท่าทีสับสน แต่เป็นเพราะเธอถูกเปิดตาให้มองเห็นทั้งจักรวาล ทำให้การรับรู้ที่ท่วมท้นจนเกินไปของหญิงสาวนำมาซึ่งความรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวกำลังดำเนินไปโดยที่เธอไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งตรงกับความหมายเดิมของไพ่ ที่พูดถึงกงล้อชีวิตซึ่งไม่รู้จะหมุนไปในทิศทางใด
นิทรรศการครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการได้ร่วมเดินทางไปพร้อมเด็กสาวภายใต้เสื้อคลุมสีแดง ผจญภัยและพบกับอุปสรรคนานัปการผ่านนิทานที่เป็นเหมือนสมุดไดอารี่เล่มใหญ่ซึ่งบันทึกเรื่องราวการเติบโตของโบว์ แม้ภาพวาดทั้งหมดจะถูกรังสรรค์ขึ้นโดยสอดแทรกกลิ่นอายความแฟนตาซีเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่เรื่องราวที่ถูกเล่าในไพ่นั้น กลับพูดถึงประสบการณ์ชีวิตและสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความไม่รู้ ความสับสน ความกังวล ซึ่งล้วนแต่เป็นอารมณ์และเรื่องราวที่ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของตนเองได้ง่ายในตอนที่รับชม
นอกจากนั้นยังทำให้เราสามารถมองเห็นนัยสำคัญของชีวิตศิลปินทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านทางชื่อภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากชื่อไพ่ทาโรต์แต่ละใบ ซึ่งชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดและตีความ ทำความรู้จักกับตัวตนของศิลปินให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โดยศิลปินสาวเลือกไพ่ทาโรต์มาเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวและไดอารี่ส่วนตัวของเธอ เพราะความหลงใหลในภาษาภาพของไพ่ทาโรต์ ที่แม้ไม่ต้องมีคำอธิบายในภาษาใดๆ แต่เพียงแค่ภาพและองค์ประกอบบนไพ่ก็สามารถเล่าทุกอย่างออกมาได้เองอย่างครบถ้วนในตัวเอง
ผนวกกับความประทับใจที่มีต่อความเชื่อเรื่องการพับนกกระเรียนพันตัวของญี่ปุ่น จากตำนานเด็กหญิงซาดาโกะผู้ป่วยเป็นลูคีเมีย และเชื่อว่าหากพับนกกระเรียนกระดาษครบหนึ่งพันตัวเธอจะหายป่วยจากโรคร้าย ทำให้โบว์เลือกจะสร้างสำรับไพ่ของตนเองขึ้นมา ด้วยหวังว่ามันจะช่วยเยียวยาจิตใจของเธอให้แข็งแรงขึ้นเช่นเดียวกันกับการพับนกกระเรียนหนึ่งพันตัว
ด้วยความที่ไพ่แต่ละใบถูกถ่ายทอดจากเรื่องราวส่วนตัวของเธอ มันจึงไม่เพียงแค่เล่าเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตของเธอเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกมุมมองต่อโลกและสัจธรรม การเสียดสีและตั้งคำถามถึงวงการศิลปะ ค่านิยมต่างๆ ที่เธอมีต่อสิ่งรอบกาย รวมไปถึงการค้นหาตัวตนของตนเอง ซึ่งโบว์ถ่ายทอดไว้ในผลงาน Who Am I ภาพวาดภาพสุดท้ายซึ่งนับเป็นไพ่ใบที่ 22 ที่เธอวาดสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ และยังถูกใช้เป็นลวดลายบนกล่องบรรจุสำรับไพ่
เด็กสาวมากมายในเสื้อคลุมสีแดงที่และใบหน้าของตนเองที่เธอสามารถจดจำได้จากการวาดซ้ำๆ เป็นพันครั้ง ชวนผู้ชมตั้งคำถามกับตนเองตอนที่มองว่าแท้จริงแล้ว ตัวตนของเราคือใคร โดยโบว์เล่าว่าเธอได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ทุกวันนี้ผู้คนมักกังวลกับภาพลักษณ์ของตนเองว่าจะเป็นคนเช่นไรในสายตาของคนอื่น จนหลงลืมตัวตนและความต้องการแท้จริงที่อยู่ภายในใจของตนเอง ซึ่งโบว์ก็ยังเล่าต่ออีกว่าผลงานนี้เป็นผลงานที่เธอชื่นชอบที่สุดในชิ้นงานทั้งหมด
“เราคิดว่าคนเราทุกคนต้องเคยมีสักครั้งที่รู้สึกสับสน หรือไม่เป็นตัวเอง รวมทั้งตั้งคำถามกับตัวเองว่าแท้จริงเราเป็นใคร หรือกำลังทำอะไรอยู่ แล้วลึกลงไปข้างในที่จริงแล้วเราต้องการอะไรกันแน่ หรือแม้แต่การที่บางครั้งเราก็อยากจะลองเป็นคนอื่นดูบ้าง ไพ่ Who Am I? เป็นตัวแทนของความรู้สึกนั้น และยังเป็นเหมือนการรวบรวมเอาเด็กสาวใต้เสื้อคลุมสีแดงจากไพ่ทุกใบมารวมกันไว้ในไพ่ใบนี้ เพื่อกล่าวอำลาและขอบคุณผู้ชมเหมือนกับการที่นักแสดงออกมาโค้งให้ผู้ชมในตอนจบของละครเวที และบอกกับผู้ชมเป็นนัยว่า ม่านของละครเวทีนี้กำลังจะปิดลงแล้ว มันเลยเป็นผลงานที่โบว์รู้สึกชอบมากที่สุดจากนิทรรศการครั้งนี้ค่ะ”
นอกจากภาพวาดไพ่ทาโรต์ที่เล่าเรื่องราวการต่อสู้และผจญภัยหลากอารมณ์ของเด็กสาวภายใต้เสื้อคลุมสีแดงที่ผู้ชมจะได้รับชมในงานครั้งนี้แล้ว ในพื้นที่จัดแสดงเรายังจะได้สัมผัสกับผลงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์คหลักของนิทรรศการ อย่างบันไดวนที่สะท้อนขึ้นจากผืนน้ำ ซึ่งทำจากกระจกเงา ทำให้ขั้นบันไดนั้นเรียงต่อกันและดูเหมือนไร้ซึ่งจุดสิ้นสุด
“งานชิ้นนี้มาคู่กันกับไพ่ The Star หลายคนอาจตีความว่ามันหมายถึงบันไดสู่ดวงดาวและความสำเร็จ แต่สำหรับเราบันไดนี้เปรียบเสมือนกับปัญหาในชีวิตที่มันมาควบคู่กันกับการเติบโต ต่อให้เราแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งได้ พอเราเติบโตขึ้นก็จะมีปัญหาใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ เป็นเหมือนบันไดขั้นใหม่เข้ามาท้าทายให้เราลองปรับลองแก้ เป็นเหมือนบันไดที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งมันค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคน แม้มันจะถูกสร้างมาในมุมมองของโบว์ แต่เชื่อว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและรู้สึกเชื่อมโยงกับชิ้นงานได้แน่นอน”
FUN FACT ABOUT ARTIST
โบว์ ปัณฑิตาค้นพบพรสวรรค์และความชอบด้านการวาดรูปของตนเองตั้งแต่อายุเพียง 3 ปี และเติบโตมาพร้อมกับการสร้างรายได้จากผลงานศิลปะที่เธอถนัด จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่วงการศิลปะจากการถูกนักสะสมซื้อผลงานไปเก็งกำไรตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย เธอจึงตั้งคำถามกับการทำงานศิลปะเสมอว่าแท้จริงแล้วความเชื่อและวัฒนธรรมของคนศิลปะที่ว่า ‘งานศิลปะที่บริสุทธิ์ ไม่ควรนำมาปะปนกับเรื่องพาณิชย์’ นั้นสมเหตุสมผลแค่ไหน
และเช่นกันในงานนิทรรศการครั้งนี้ ผลงานภาพพิมพ์ไพ่ทาโรต์ขนาดเท่าโชว์ของโบว์ถูกจับจองโดยเหล่านักสะสมและคนรักศิลปะแล้วทุกชิ้น เรียกได้ว่าหมดเกลี้ยงตั้งแต่ยังไม่เริ่มงานจัดแสดงเลยทีเดียว!
นิทรรศการ ‘Story of My Mind’ เปิดให้เข้าชมฟรี ณ RCB Galleria 1 ชั้น 2 River City Bangkok (ติดท่าเรือสี่พระยา) ตั้งแต่วันนี้ – 28 สิงหาคม พ.ศ. 2565
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.rivercitybangkok.com
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF RIVER CITY BANGKOK
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้บน Padthai.co
- I Need a Life Coach : หรือชีวิตจะไม่ต้องการไลฟ์โค้ช ? นิทรรศการศิลปะจาก โน้ต อุดม แต้พานิช ที่ซ่อนแนวคิดดีๆไว้ ภายใต้ผลงานศิลปะสีสันจี๊ดจ๊าดหลากหลายสไตล์ ที่จะพาคุณไปรู้จัก โน๊ต ที่มากกว่าการเป็น Stand up Comedian
- ทำความรู้จักตนเองผ่านเด็กชายหลายตา พูดคุยกับ KARMS ก้าม ธรรมธัช สายทอง และผลงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา ROOM 063 By KARMS ที่ River City Bangkok
- มองสังคมไทยรอบด้าน ผ่านงานศิลปะหลากรูปแบบ จากศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ทวี รัชนีกร ในจดหมายเหตุประเทศไทย ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ นิทรรศการครั้งใหม่ที่ BACC
- ชนชั้นและศิลปะ การเติบโต และรอยทรงจำในความเคลื่อนไหว นั่งคุยกับพิชัย แก้ววิชิต เกี่ยวกับ The memoir of movement นิทรรศการภาพถ่ายครั้งใหม่ที่ River City Bangkok
- เปิดสองเรื่องเล่าจากถ้ำหลวงใน Thirteen Lives : สิบสามชีวิต และ Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง สองผลงานใหม่บนสตรีมมิ่งเจ้ายักษ์ ที่สร้างจากเรื่องจริงของเหตุการณ์ภารกิจกู้ชีพนักกีฬาและโค้ชรวม 13 ชีวิตจากทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ในปีค.ศ. 2018