คาร์เทียร์ (Cartier) แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติฝรั่งเศส เปิดตัวแองดอมตาบล์ เดอ คาร์เทียร์ (Indomptables de Cartier) คอลเลกชันเครื่องประดับและเรือนเวลาที่นำสรรพสัตว์แห่งพงไพรอันงามสง่าเป็นเอกลักษณ์ของคาร์เทียร์อย่าง เสือ ยีราฟ จระเข้และม้าลาย เปี่ยมด้วยรูปลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่น นำมาโลดแล่นอยู่บนเครื่องประดับและเรือนเวลา ที่ผนวกทั้งเทคนิคชั้นสูง งานหัตถศิลป์อันวิจิตรตระการตา และความคิดสร้างสรรค์ของการรังสรรค์เครื่องประดับและนาฬิกาเข้าด้วยกัน
Indomptables de Cartier แนวคิดหลักของคอลเลกชันนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องประดับสไตล์ Tête-à-Tête หรือเครื่องประดับที่มีดีไซน์หัวของทั้งสองด้านประจันหน้าเข้าหากัน ทั้งกำไลข้อมือ สร้อยคอและเรือนเวลา ที่ประดับด้วยรูปหัวสัตว์สองชนิดจากสรรพสัตว์ระดับไอคอนของคาร์เทียร์ สำหรับกำไลข้อมือตัวเรือนเยลโลโกลด์ทั้งสามแบบ คาร์เทียร์ฉีกกรอบกฎเกณฑ์แห่งโครงสร้างทั้งมวล ส่วนหัวของสัตว์แต่ละชนิดคงรูปแบบเดิมตามลักษณะทางธรรมชาติที่เราต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ทว่าลวดลายบนลำตัวกลับถูกเปลี่ยนแปลงไป กำไลข้อมือแบบแรก ลายบนตัวจระเข้ถูกนำมาประดับบนตัวม้าลาย ส่วนกำไลข้อมืออีกชิ้น ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของม้าลายกลับปรากฏอยู่บริเวณลำตัวของเสือแพนเธอร์ และอีกหนึ่งผลงานแห่งการดีไซน์ด้วยแนวคิดนอกกรอบ คือการสลับลายกันระหว่างยีราฟและเสือ ชิ้นงานสร้างสรรค์เหล่านี้เปรียบเสมือนงานคาร์นิวัลแห่งความสนุกสนาน ที่เฉลิมฉลองให้กับความคิดสร้างสรรค์แห่งพงไพรภายใต้อาณาจักรคาร์เทียร์
คอลเลกชันแองดอมตาบล์ เดอ คาร์เทียร์ (Indomptables de Cartier)
คาร์เทียร์กล้าที่จะรังสรรค์เครื่องประดับที่ประยุกต์ สามารถใส่ได้หลากหลายโอกาส ผ่านชิ้นงานเรียบโก้ทรงกราฟิกพร้อมคาแรคเตอร์ที่เด่นชัด อย่างเช่นกำไลข้อมือ นาฬิกาและสร้อยคอชิ้นใหญ่ที่ดูทรงพลัง โครงสร้างโดดเด่นไล่เรียงตั้งแต่หูถึงสันกราม ดวงตาและจมูกของสัตว์แต่ละชนิด เป็นความงดงามที่ขมวดเส้นสายเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะพอเจาะ คอลเลกชันแสนวิจิตรนี้ถูกเนรมิตโดยสตูดิโอสร้างสรรค์เครื่องประดับและเรือนเวลาของคาร์เทียร์ให้มีคาแรคเตอร์ที่เหนือจินตนาการทุกรายละเอียด ประกอบด้วยสิบชิ้นงานตระการตาที่ล้วนเป็นอัตลักษณ์ของเมซง
กำไลข้อมือทั้งหมดห้าแบบ มีให้เลือกทั้งแบบไวท์โกลด์ฝังเพชรหรือเยลโลโกลด์ล้วน สำหรับดีไซน์ไวท์โกลด์ประดับเพชรนั้น เสือจะเผชิญหน้ากับยีราฟ และจระเข้จะจ้องตากับม้าลาย ส่วนแบบเยลโลโกลด์ ม้าลายจะถูกจับคู่กับเสือแพนเธอร์หรือจระเข้ และเสือจะคู่กับยีราฟ
นอกจากนี้ ยังมีสร้อยคอชิ้นใหญ่ที่สามารถสวมใส่เป็นโชคเกอร์ซึ่งมีให้เลือกสองดีไซน์ แบบแรกคือสร้อยคอเยลโลโกลด์ที่มาพร้อมการประจันหน้าระหว่างม้าลายและเสือแพนเธอร์โดยสลับลายสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของกันและกัน และแบบฝังเพชรทั่วตัวเรือนที่นำยีราฟและเสือมาเผชิญหน้ากัน นอกจากนั้นยังมีเรือนเวลาอีกสามแบบที่มาพร้อมหน้าปัดฝังเพชรแบบลายจุดหนังชากรีน (Shagreen) ประดับบาร์สองข้าง ด้านหนึ่งเป็นเสือแพนเธอร์ และอีกด้านหนึ่งถูกประดับด้วยจระเข้ ม้าลาย หรือเสือ โดยส่วนหัวสัตว์ทั้งสามแบบสามารถถอดออกเพื่อสวมใส่บนข้อมือได้ด้วยกลไก Clasp System เทคนิคใหม่ล่าสุดจากคาร์เทียร์ที่อำพรางสลักของนาฬิกาไว้อย่างแยบยล
การรังสรรค์จิตวิญญาณของสรรพสัตว์: ความท้าทายแห่งหัตถศิลป์
เครื่องประดับคอลเลกชันแองดอมตาบล์ เป็นชิ้นงานที่กินเวลาชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าในดีไซน์สตูดิโอของคาร์เทียร์ เสาะแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ให้กับการประดับหินออนิกซ์ลงบนตัวยีราฟหรือจมูกของเสือแพนเธอร์เฉกเช่นเดียวกับหลากหลายเทคนิควิธีการฝังเพชรที่คาร์เทียร์ได้ค้นคว้าทุกความเป็นไปได้เพื่อรังสรรค์ผลงานออกมางดงามเหนือความคาดหมาย
วิธีการฝังเพชรแบบ Shagreen Setting อีกเทคนิคที่ถูกเลือกมานี้ โดยเป็นวิธีการฝังที่สามารถทำให้อัญมณียิ่งทวีความเปล่งประกายระยิบระยับ การฝังเพชรแบบ Illusion Setting บนกำไลข้อมือจระเข้ใช้วิธีการหักเหเหลี่ยมมุมของเนื้อทองเพื่อสร้างภาพลวงตาบริเวณที่ทองกับเพชรผสานกัน และสุดท้ายคือวิธีการฝังอัญมณีแบบ Fur Setting ซึ่งเป็นรูปแบบการฝังอัญมณีเฉพาะตัวของเมซงคาร์เทียร์สำหรับสัตว์แต่ละชนิด โดยการล้อมอัญมณีแต่ละเม็ดด้วยกรอบทองขนาดจิ๋วกดเป็นลายเรียงรายกัน เพื่อให้อัญมณีแต่ละเม็ดดูราวกับขนเฟอร์เสมือนจริง
แต็ทอาแต็ท (Tête-à-Tête) แนวคิดอันเป็นหัวใจของคาร์เทียร์
เสือ ม้าลาย ยีราฟและจระเข้ คือสัตว์สี่ชนิดที่บ่งบอกคาแรคเตอร์ของสรรพสัตว์แห่งคาร์เทียร์ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งหมดอยู่ใต้อาณัติของสัตว์ที่เป็นดั่งสัญลักษณ์สูงสุดของเมซงคาร์เทียร์ ซึ่งก็คือเสือแพนเธอร์นั่นเอง ที่ผ่านมา คาร์เทียร์ได้นำบรรดาสัตว์นานาชนิดมาเผชิญหน้ากันอยู่หลายครั้ง โดยดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมายุคโบราณนี้ ได้ถูกเมซงคาร์เทียร์นำมาใช้และได้รับความนิยมภายในเวลาอันรวดเร็วในช่วงปีค.ศ. 1930 และหลังจาก 2 ทศวรรษผ่านไป ฌาน ตุสแซงต์ (Jeanne Toussaint) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของคาร์เทียร์ในสมัยนั้นก็ได้ฟื้นคืนชีวิตให้ชิ้นงานนี้อีกครั้ง เธอได้ปลุกพลังแห่งการสร้างสรรค์เครื่องประดับให้สมจริงที่สุดและได้ท้าทายเหล่านักออกแบบและช่างฝีมือให้ระดมกำลังในการตีความสรรพสัตว์แห่งพงไพรให้สมจริงยิ่งกว่าที่เคย โดยมีเสือแพนเธอร์เป็นที่สุดแห่งสัญลักษณ์ คำว่า “ตุสแซงต์ เทสต์ (Toussaint Taste)” หรือ รสนิยมตูแซงท์ ซึ่งเป็นคำจากปากของตุสแซงต์เอง อันแปลได้ว่า รสนิยมอย่างล้ำลึก (Taste for Depth) ด้วยความหลงใหลอันแรงกล้าที่เธอมีต่องานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม เธอจึงให้ความสำคัญกับการเน้นขนาดและมิติต่างๆ ให้โดดเด่น และกำไลข้อมือแบบสองหัวชิ้นนี้ก็นับเป็นตัวอย่างชั้นดีของแนวคิดดังกล่าว
ในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 กำไลข้อมือสไตล์ Tête-à-Tête ที่มีสัตว์หลากลายชนิดและเสือแพนเธอร์ที่ประจันหน้ากันนี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เพราะบรรดากลุ่มคนผู้มากด้วยสไตล์ประจำยุคนำกลับมาสวมใส่ หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 คาร์เทียร์จึงได้ขยายอาณาเขตให้เหล่าสัตว์ป่าอื่น เช่น ม้าลายและยีราฟให้มาโลดแล่นอยู่บนกำไลข้อมือบ้าง โดยนำเสนอผ่านชิ้นงานตัวเรือนทองคำพร้อมเคลือบแลกเกอร์สีดำมันวาว ด้วยดีไซน์ที่เผยมิติใหม่ของสัตว์แห่งพงไพรเหล่านี้ ยิ่งทวีความทรงพลังให้เครื่องประดับจากคาร์เทียร์สง่างามและโดดเด่นกว่าที่เคย
“ด้วยรูปทรง สีสัน โครงสร้าง และผลลัพธ์แห่งมิติผนวกการสรรสร้างสไตล์กำไลข้อมือแต็ทอาแต็ท (Tête-à-Tête) คอลเลกชันนี้จึงเผยมิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับหมู่สรรพสัตว์แห่งคาร์เทียร์และขุมพลังทางสัญลักษณ์ เครื่องประดับรูปสัตว์มีสมรรถภาพอย่างยิ่งในการสะท้อนบุคลิกของผู้สวมใส่ เฉกเช่นเดียวกับห้วงอารมณ์ความรู้สึก ทัศนคติและปัจเจกลักษณะต่างๆ ของพวกเขา นับเป็นโอกาสที่ดีในการสื่อสารตัวตนที่แท้จริงออกมา” ปิแอร์ ไรเนโร (Pierre Rainero) ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์ สไตล์และเฮอริเทจของคาร์เทียร์
CREDIT:
PHOTOS: COURTESY OF CARTIER
GRAPHIC DESIGNER: PERAYUT LIMPANASTITPHON
รถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่