Art in Fashion ลวดลายศิลปะบนผืนผ้า
Art in Fashion (อาร์ต อิน แฟชั่น) ศิลปะมีอิทธิพลต่อการออกแบบเสื้อผ้ามาเป็นเวลาเนิ่นนาน นักออกแบบหลายๆ คนเป็นทั้งศิลปินและผู้ออกแบบเสื้อในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น Elsa Schiaparelli (เอลซ่า สเคียปปาเรลลี่) นำรูปวาดที่เป็นรูปกุ้งลอบสเตอร์สีส้มตัวใหญ่ของ Salvador Dali (ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ ศิลปะแนวเหนือจริง) มาพิมพ์บนผ้า แล้วตัดเป็นชุดให้พระนางวอลลิส ซิมป์สันสวมใส่ ซึงในช่วงเวลานั้นถือเป็นชุดที่ท้าทายพอควรเพราะความหมายแฝงของกุ้งล็อบสเตอร์นั้น ศิลปินผู้วาดสื่อความหมายถึงความปรารถนาอันลี้ลับในเรื่องทางเพศ! หรืออย่าง Andy Warhol (แอนดี้ วอร์ฮอล) นำภาพกระป๋องซุปแคมป์เบลล์เรียงมาพิมพ์บนผ้าและเย็บเป็นชุดกระโปรง ที่แสนจะสนุกสนานเป็นที่เล่าขานและยังนำกลับมาผลิตจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันเราสามารถเห็นตราต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า ไม้ขีด เครื่องดื่มชูกำลัง ถุงแป้ง ถุงข้าวโพดมาตัดเป็นชุดหรือพิมพ์บนเสื้อยืดและกระเป๋าขายดิบขายดีกันตามตลาดอย่างจตุจักร ก็เป็นเรื่องเก่านำมาเล่าใหม่ได้อย่างเก๋ไก๋สำหรับสตรีทแฟชั่น
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ศิลปินได้มีทั้งอิทธิพล และได้ร่วมมือกับนักออกแบบ จนในปัจจุบันการออกแบบเสื้อผ้า การวาดรูปแบบแอนิเมชัน การทำวิดีทัศน์ ได้ถูกนับให้อยู่ในศิลปะทั้ง 7 ชนิดนอกเหนือจากการวาดภาพ การแกะสลัก สถาปัตยกรรม ที่ยังจำกัดอยู่ในแวดวงที่นับว่าเป็นศิลปะชั้นสูง จากปีค.ศ.1965 Yves Saint Laurent (อีฟส์ แซงต์ โลรองต์) นักออกแบบชาวฝรั่งเศสได้นำภาพวาดที่เป็นบล็อกสีขาว สีดำ กับ สีเหลือง แดงและน้ำเงิน โดยศิลปินเบลเยียม Piet Mondrian (เพียต มอนเดรียน) มาเป็นลายบนคอลเลกชั่นเสื้อผ้าที่เก๋ไก๋ กลายเป็นผลพวงของงานศิลปะบนเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่สวมใส่ได้ประจำวัน สร้างความฮือฮา ความชื่นชม เปิดบทสนทนาได้ งานศิลปะจึงไม่จำกัดอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ หรือแค่บนรันเวย์ แต่สามารถเผยแพร่สู่ท้องถนน
เราจึงได้เห็นการนำศิลปะมาอยู่ในแฟชั่นอย่างสม่ำเสมอ อย่างเวอร์ซาเช่ (Versace) แบรนด์อิตาเลี่ยน เริ่มตั้งแต่โลโก้ Medusa (เมดูซา) ซึ่งเป็นเทพปกรณัมของกรีก ไปจนถึงภาพวาดของ Botticelli (บอตติเชลลี) สมัยเรอเนสซองส์ และชุดซิลค์สกรีนป๊อปอาร์ตภาพหน้าของมาริลิน มอนโร โดยแอนดี้ วอร์ฮอล์ หรือในคอลเลกชั่นของ Comme des Garçons (กอมม์ เดส์ การ์ซงส์) และ Martin Margiela (มาร์ติน มาร์เจียล่า) กับผลงานของศิลปิน Kazimir Malevich (คาซิมีร์ มาเลวิช) ในรูปลักษณ์ของเรขาคณิตแบบแอ็บสแตร็กส์ และศิลปะแบบอาวองต์ การ์ด อย่างภาพของเดเมียน เฮิร์สต์ กับชุดของ Alexander McQueen (อเล็กซานเดอร์ แมคควีน) และภาพอาร์ตนูโวของ Gustav Klimt (กุสตาฟ คลิมท์) กับเสื้อผ้าแบรนด์อเล็กซานเดอร์ แมคควีน โดย John Galliano (จอห์น กัลเลียโน)
ภาพของ Rene Magritte (เรอเน มากริต) กับรองเท้า Manolo Blahnik (มาโนโล บลาห์นิค) และ Van & Birkenstock (แวน แอนด์ เบอร์เกนสต๊อก) ในปีค.ศ. 2014 ที่นำภาพการ์ตูนคอมมิคของ Roy Lichtenstein (รอย ลิกเทนสไตน์) ที่เป็นมาอยู่บนรองเท้าสนีกเกอร์ของ ทั้งแบรนด์ Nike (ไนกี้) และรองเท้าส้นสูงแสนเซ็กซี่ของ Charlotte Olympia (ชาร์ล็อตต์ โอลิมเปีย) กระเป๋าโมโนแกรมของ Louis Vuitton (หลุยส์ วิตตอง) ทำให้สดใสด้วยภาพวาดดอกไม้และลายกราฟฟิตี้ของ Stephen Sprouse (สตีเฟนส์ สเปราส์) โดยแนวคิดของ Marc Jacobs (มาร์ค เจคอบส์) อาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์ คนก่อน คนเก่งผู้ดูแลแบรนด์ เรียกเสียงฮือฮาจากแฟชั่นนิสต้าได้อย่างดี
จากนั้นมา มาร์ค เจคอบส์ ยังทำงานร่วมกับศิลปินอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Richard Prince (ริชาร์ด ปรินส์) Yayoi Kusama (ยาโยอิ คุซามะ) Takashi Murakami (ทาคาชิ มุรากามิ) จนบัดนี้แบรนด์หลุย วิตตอง ก็ยังคงใช้คอนเซ็ปต์การนำภาพวาด ‘วอเตอร์ ลิลลี่’ ของศิลปิน Claude Monet (โคล้ด โมเนต์) ศิลปินอิมเพสชั่นนิสม์ มาอยู่บนกระเป๋าโมโนแกรม
สรุปได้ว่าทุกๆ วันคือแฟชั่นโชว์ ที่โลกใบนี้เปรียบเสมือนรันเวย์ ดีไซเนอร์เป็นผู้คัดสรรศิลปะที่จรรโลงใจ ผนวกกับอิทธิพลจากวัฒนธรรมและความเป็นไปทางด้านสังคมและความรู้สึกไปบนเสื้อผ้าที่เราสามารถสวมใส่และแสดงออกทางรสนิยมได้ทุกวัน
CREDITS:
เรื่อง: เพชรชมพู
ภาพประกอบ: ธนภร (อังสนา) ปิ่นทอง
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์: พีรยุทธ ลิมปนสถิตพร
สามารถอ่านคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Art in Fashion ได้ที่