ทำความรู้จักชีวิตของศิลปินแห่งชาติ ดำรง วงศ์อุปราช ผู้ริเริ่มองค์ความรู้ด้านทัศนศิลป์ให้วงการศิลปะไทย ในนิทรรศการครั้งใหม่ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
เมื่อเอ่ยชื่อของดำรง วงศ์อุปราช ครูสอนศิลปะเจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติในสาขาทัศนศิลป์ นักเรียนศิลปะหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยและได้สัมผัสผลงานภาพจิตรกรรม รวมถึงภาพพิมพ์ของเขากันมาบ้าง แต่น้อยคนที่จะได้ศึกษาชีวิตและแรงบันดาลใจของศิลปินท่านนี้ว่าแต่ละช่วงชีวิตได้ส่งผลต่อชิ้นงานแต่ละชิ้นอย่างไร
หลังจากสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลายจนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง จึงสมควรแก่เวลาเสียทีที่นิทรรศการใหม่ในชื่อ ‘ดำรง วงศ์อุปราช: ทัศนศิลป์แห่งชีวิต’ (Damrong Wong-Uparaj : A Retrospective of Versatility & Discipline) จะเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชม
นิทรรศการครั้งนี้เป็นความร่วมมือของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ของสะสม ณรงค์ วลีพร อิงค์ธเนศ (มอนวิค) และคณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร เพื่อระลึกถึงศิลปินผู้เป็นเสมือนผู้ริเริ่มองค์ความรู้ด้านทัศนศิลป์ในประเทศไทยไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง และมีการจัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ ‘ศิลปนิทัศน์เชิดชูเกียรติ อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช อาจารย์ผู้ก่อตั้งหมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร‘
และมีการเชิญ ดร.เจตนา นาควัชระ รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน และรองศาสตราจารย์วินัย ผู้นำพล ในฐานะสหาย เพื่อนร่วมงาน ร่วมถึงลูกศิษย์ มาร่วมเล่าถึงความทรงจำ ตัวตน และบทบาทในวงการวิชาการด้านศิลปะของอาจารย์ดำรง นับตั้งแต่ถูกชักชวนให้มาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ และริเริ่มหลักสูตรทัศนศิลป์ แต่มิใช่เพื่อสร้างคณะจิตรกรรมที่สอง แต่เพื่อปลูกฝังวิสัยทัศน์และความรอบรู้ที่กว้างขวางให้กับนักศึกษาที่ตกลงใจเข้ามาเรียนในสาขาวิชานี้
อาจารย์ดำรงเป็นที่จดจำในฐานะศิลปินผู้รอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ รวมไปถึงเรื่องศิลปะในโลกสมัยใหม่ มีความสนใจที่กว้างขวาง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นมิตรและไม่แบ่งแยกปิดกั้น เพราะมองว่าศิลปะนั้นควรเข้าถึงเพื่อนมนุษย์ได้โดยไม่มีชนชั้นมาคั่นกลาง ทำให้เขาเป็นจิตรกรที่มีความโอภาปราศรัย และดึงดูดให้ชาวบ้านร้านตลาดผู้ไม่เคยได้เรียนศิลปะมาก่อนเข้าใจในศิลปะมากขึ้น ว่าไม่ใช่เรื่องสูงส่งเสียจนจับต้องไม่ได้
อาจารย์ดำรงเป็นหนึ่งในลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เรียนรู้แนวคิดการผสมผสานภาษาศิลปะแบบสากล กับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย นอกจากจะเป็นหัวเรือใหญ่ผู้ริเริ่มสาขาทัศนศิลป์ ให้คณะอักษรศาสตร์ เขายังเป็นผู้ร่วมเปิดหลักสูตร ‘มนุษย์กับการสร้างสรรค์‘ เป็นรายวิชาบังคับของคณะ ด้วยแนวคิดที่ว่า การสร้างสรรค์นั้นแทรกสอดอยู่ในทุกกิจกรรมของมนุษย์ แม้แต่ในการคิดวิเคราะห์เหตุผลในแบบวิทยาศาสตร์ก็ตาม
การได้เข้าเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รวมทั้งใช้ชีวิตในระยะสั้น ๆ ที่เมืองนิวยอร์ค ทำให้ อาจารย์ดำรงซึมซับวิถีชีวิตและได้รับประสบการณ์ที่กว้างขวางทั้งในทางศิลปะและการดำเนินชีวิตมามากมาย จึงไม่น่าแปลกที่เขาจะอยากถ่ายทอดวิถีนี้แก่ผู้เป็นลูกศิษย์ชาวอักษรศาสตร์ ให้มีความใฝ่รู้ และได้ฝึกคิด เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับความเป็นศิลปะ ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างชิ้นงานที่สวยงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ในนิทรรศการ ‘ทัศนศิลป์แห่งชีวิต’ (Damrong Wong-Uparaj : A Retrospective of Versatility & Discipline) ได้แบ่งช่วงชีวิตของอาจารย์ดำรง ออกเป็น 4 ช่วงหลัก ๆ ตามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา และส่งผลให้ลายเส้น รวมถึงมุมมองที่มีต่อโลกเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
แสวงหาตัวตนท่ามกลางกระแสศิลปะไทยสมัยใหม่ : Painting Thai Modernism (พ.ศ.2497-2505) คือช่วงแรกเริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และมาศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยแรงบันดาลใจในภาพมักจะเป็นเรื่องราวชนบทไทย วิถีชีวิต วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ถ่ายทอดผ่านรูปแบบศิลปะตะวันตก ในภาพจึงเต็มไปด้วยไอดินกลิ่นแดดและชีวิตความเป็นชนบทที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างซื่อตรง
ตระหนักรู้ในความหลากหลาย : Discovering The Multiverse (พ.ศ.2505-2518) เป็นช่วงที่อาจารย์ดำรงได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ และได้มีโอกาสเรียนรู้ด้านประวัติศาตร์ศิลป์ยุโรป รวมถึงการซึมซับวิถีชีวิตแบบตะวันตก ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาเปิดโลก อาจารย์ดำรงได้ทำอะไรหลายอย่าง ทั้งการเป็นอาจารย์สอนศิลปะ นักวิชาการ รวมทั้งการบริหารจัดการวงการศิลปะไทยในหลายๆ ด้าน สร้างประชาคมศิลปะเพื่อเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้สื่อสารกับผู้คน
ผลงานในช่วงเวลานั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ทดลองทำงานหลายแบบเพื่อค้นหารูปแบบเฉพาะตัว ทั้งการใช้ฝีแปรงที่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง ลักษณะนามธรรมสังเคราะห์ การออกแบบจัดวางภาพด้วยรูปทรงและระนาบสีที่เรียบง่ายโดยไม่ลืมสอดแทรกกลิ่นอายวัฒนธรรมไทยด้วยสัญลักษณ์ตัวอักษรและลวดลายที่มีความเป็นท้องถิ่น
ชีวิตแห่งสมดุล : Living in Consensus (พ.ศ.2519-2520) หนึ่งในช่วงเวลาที่เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรม ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยเทคนิคเฉพาะตัวอย่างปากกาสีและสีน้ำ เน้นการถ่ายทอดความพลิ้วไหวและเต็มไปด้วยสมาธิและความนิ่งสงบตามปรัญญาชินโตและเซนที่แสดงถึงวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์และธรรมชาติ ที่มีความเงียบและสมถะ
และช่วงเวลาสุดท้าย มุ่งมั่นค้นหาจิตวิญญาณอันนิ่งสงบ : Imagery of Serenity (พ.ศ.2520-2545) เป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นหลักจากเก็บสะสมประสบการณ์ชีวิตอันหลากหลาย ไปสู่การพัฒนาทั้งผลงานศิลปะและวิชาการเพื่อสะท้อนตัวตนที่แท้จริงออกมา จากการเรียนรู้และเข้าใจในตัวตนของตนเองเป็นอย่างดี โดยภาพเขียนส่วนใหญ่จะมีขนาดที่ใหญ่โตขึ้น เต็มไปด้วยความรู้สึกสงบเรียบง่าย เช่นภาพใหญ่ที่สุดขนาด 2×3 เมตร ซึ่งใช้เวลาวาดนานถึง 4 ปี โดยใช้หลักการของศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติพุทธธรรม เข้ามาเติมเต็มความสงบสุขด้วยเส้นสายและภูมิปัญญาอันลึกซึ้งจวบจนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
นอกจากกำแพงนิทรรศการที่มีไทม์ไลน์ชีวิตของอาจารย์ดำรง อย่างละเอียดไว้ให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมศึกษา ช่วงชีวิตแต่ละช่วงจะถูกจัดแสดงบนพื้นที่จัดแสดงที่กำหนดสีพื้นหลังให้สอดคล้องกับตัวตนในแต่ละช่วงเวลา ทั้งยุคแรกเริ่มที่เป็นสีเหลืองทองบ่งบอกถึงความมีชีวิตชีวา ยุคค้นหาตัวตนที่ถูกเติมแต่งและจัดแสดงผลงานไว้บนกำแพงสีเทา ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงหลังไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นบนกำแพงสีเขียว และช่วงเวลาสุดท้ายบนกำแพงสีน้ำเงินเข้ม
นิทรรศการจัดแสดงผลงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์รวม 70 ชิ้น ที่สะท้อนจิตวิญญาณของศิลปิน ซึ่งหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ดำรงอยู่ด้วยความเรียบง่าย (Simplicity) เงียบสงบ (Serenity) และเสน่ห์อันน่าหลงใหล (Charm) พร้อมวีดีทัศน์สัมภาษณ์เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน รวมถึงครอบครัวและนักสะสม ผู้ล้วนแล้วแต่มีความใกล้ชิดและความทรงจำต่อผศ.ดำรงในบทบาทและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมเดินทาง ทำความรู้จัก และเข้าใจในตัวตนของศิลปินชั้นครูผู้ล่วงลับผู้นี้
ชมนิทรรศการ ดำรง วงศ์อุปราช: ทัศนศิลป์แห่งชีวิต –“Damrong Wong-Uparaj : A Retrospective of Versatility & Discipline ได้แล้ววันนี้ จนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (ตรงข้ามศูนย์การค้า MBK CENTER ลง BTS สถานีสนามกีฬา)
หรือเข้าชม Virtual Tour ของนิทรรศการนี้ ผ่านแพลตฟอร์ม derndoo คลิก / รับชมผ่าน Virtual Tour คลิก / ลำดับเหตุการณ์ประกอบนิทรรศการ คลิก
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF BANGKOK ART AND CULTURE CENTRE (BACC)
อ่านคอนเทนต์ Lifestyle ที่น่าสนใจอื่น ๆ บน Padthai.co
2Choey : Fingers Crossed – Solo Exhibition by Trendy Gallery and RCB
ROOM 063 By KARMS นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของก้าม-ธรรมธัช สายทอง
Bvlgari Colors: A Journey Between Jewels and Art นิทรรศการสุดยิ่งใหญ่ครั้งแรก ณ เกาหลีใต้
คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะได้ ในนิทรรศการ 365 ° by Eugenio Recuenco
Exhibition — Padthai.co ชวนปักหมุด 6 นิทรรศการที่ยังเปิดให้ชมในช่วง Covid-19