ครูพะเยาว์ ศรีอำพร เจ้าของงานศิลปหัตถกรรม จักสานบ้านกลางแดด เป็นครูช่างที่ได้รับการรับรองจาก ศ.ศ.ป. หรือศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ (องค์การมหาชน) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “SACICT” (อ่านพ้องเสียงกับคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในภาษาไทย) หากใครได้รับรองเป็นครูช่างจากสถาบันนี้เป็นต้องมีฝีมือเยี่ยมยอด
วันดีคืนดีเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศ ชวนไปซื้อของจักสานบ้านกลางแดด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ความว่า เข้าไปค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตว่า เจ้าไหนน่าสน ทำงานได้สวยงามละเอียด เมื่อได้ชื่อเสียงเรียงนามและเบอร์โทรศัพท์ เลยลองติดต่อไป ช่างสานผู้นั้นคือ คุณพะเยาว์ ศรีอำพร ครูช่างศิลปหัตถกรรม จักสานบ้านกลางแดด
เมื่อได้โทรนัดแนะกับคุณพะเยาว์ หลายรอบเพื่อสอบถามถึงที่อยู่และข้อมูลอื่นๆจนแน่ใจว่าจะไม่ไปให้ เสียเที่ยว ในวันรุ่งขึ้นเราสามคน ก็ขับรถมุ่งหน้าสู่ การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จักสาน บ้านกลางแดด เลขที่ 41 หมู่ 4 บ้านกลางแดด ตำบลกลางแดด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000
ขับรถสบายสบายราว 3 ชั่วโมง แวะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านปลา ท่าน้ำอ้อย ตามคำแนะนำของเว็บวงใน ( wongnai.com ) แถวพยุหะคีรี เป็นร้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดีอกดีใจว่าจะได้ลิ้มชิมรสกุ้งแม่น้ำ จิ้มน้ำพริกตำรสแซ่บ ปรากฏว่าไม่มี เลยสั่งอาหารแนะนำของทางร้าน อย่างทอดมันปลากราย แกงคั่วหอยขม ปลาหมึกผัดน้ำพริกเผา ต้มยำกุ้งน้ำใส รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ทุกคนยกความอร่อยให้กับแกงคั่วหอยขม ที่ทำได้อร่อยมากและวิธีทำไม่เหมือนใครเลย ตามด้วยปลาหมึกผัดน้ำพริกเผา
พวกเราทำตัวเป็น “ วงนอกตรวจสอบวงใน ” ว่าอร่อยจริงไหม จากนั้นซื้อขนมคล้ายทองม้วน ชื่อทองพับกะทิสด ที่แม่ครัวตั้งอกตั้งใจทำบนเตาร้อนๆ บางกรอบอร่อย เพื่อนบอกว่าเหมือนขนมฝรั่งเศสที่มีชื่อเรียกว่า “ลิ้นแมว หรือ Langue de chat” ที่ให้ความรู้สึกเวลารับประทานว่า อ่อนนุ่มนวลเหมือนเวลาที่แมวมาเลียมือเรา ช่างรู้จักเปรียบเปรย แต่ทำไมเป็นแมว ไม่เป็นหมาก็ไม่รู้
เสร็จจากการรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว เราก็ขึ้นรถ ขับไปไม่ถึง 10 กิโลเมตร ยกโทรศัพท์เช็คตำแหน่งที่แน่นอนของบ้าน อธิบายทางเสร็จ คุณพะเยาว์บอกว่าจะยืนรออยู่หน้าบ้าน ขับเรื่อยไปจนเข้าถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเห็นคุณพะเยาว์ ครูช่างที่ได้รับการรับรองจาก ศ.ศ.ป. หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (sacict.or.th)
หากใครได้รับรองเป็นครูช่างจากสถาบันนี้ เป็นต้องมีฝีมือเยี่ยมยอด ครูพะเยาว์ ให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี ที่บ้านของครูเปรียบเสมือนเป็นร้านและเวิร์คช็อปเล็กๆในตัว มีของจักสาน ตะกร้ากระบุงบุ้งกี๋กองอยู่ วางซ้อนเป็นตั้งๆ รวมทั้งในตู้กระจกเต็มไปหมด ท่ามกลางของเหล่านี้คือ ม้านั่งเล็กๆที่ครูใช้นั่งทำงาน
ระหว่างที่เพื่อนซอกแซกค้นหางานจักสานชิ้นพิเศษ เราก็คุยกับครูพะเยาว์ในเรื่องทั่วๆไป อย่างประวัติความเป็นมาว่าทำไมถึงชอบงานจ้กสาน ครูเล่าว่าตั้งแต่เป็นวัยรุ่นเห็นแม่นั่งทำงานจักสาน ก็คอยสังเกตและหัดทำขึ้นมาเอง รู้สึกสนุกกับงานฝีมือทุกประเภท “ มีจักรให้ฉัน ฉันก็เย็บเสื้อผ้า ซ่อมแซมชุด ฉันชอบทางนี้จึงทำได้หมด ทำจักสาน ตั้งกลุ่มคนที่สนใจ สอนคนให้ต่ออาชีพ เป็นคนชอบทำ ทำแล้วเพลินอยากทำให้เสร็จ บางทีทำจนดึกดื่นไม่ได้หลับไม่ได้นอน”
อ้าว ทำไมล่ะคะครู เดี๋ยวก็เหนื่อยแย่ ครูตอบว่า “นั่นน่ะสิอายุฉันก็ 72 แล้ว แต่ตาฉันยังดีนะ ดึกดื่นแค่ไหนก็ทำได้ ลูกๆก็ขอร้องว่า แม่อย่าทำเลย พักเถอะ ถึงกับจ้างให้แม่หยุด แต่ฉันเองมันหยุดไม่ได้ ฉันชอบทำ คิดโน่นนี่ คิดลาย อยากให้มันออกมาเป็นรูปเป็นร่าง คิดอะไรได้ ถึงนอนอยู่ ก็อยากลุกขึ้นมาทำให้เสร็จ ของที่ฉันทำ ฉันสอนต้องทำให้สวย ของไม่สวยก็เอามาแก้มาซ่อม ทำไม่ดีก็เลาะทิ้ง” ของจักสานลายดอกพิกุลสานแทบไม่ทัน เวลามีงานที่กรุงเทพ ฯ ครูจะได้รับเชิญไปโชว์และไปขายที่งานศิลปาชีพทุกครั้ง ครูพะเยาว์หยิบแฟ้มเป็นปึกๆ ให้เราเปิดอ่าน มีทั้งจดหมายเชิญ ทั้งจดหมายขอบคุณ จดหมายประกาศเกียรติคุณ หนังสือรายงานและแคตตาล็อกของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ที่มีผลงานของครูในแต่ละปี กองอยู่เป็นตั้ง เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความเป็นผู้เชี่ยวชาญของครูพะเยาว์
ครูมีลูกชายลูกสาวรวม 4 คน ลูกชายคนโตทำงานเกี่ยวกับการเกษตร ส่วนลูกสาวเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เป็นครูช่างเช่นเดียวกัน ครูว่าลูกสาวมีฝีมือจักสานที่มีความละเอียดสวยงามเยี่ยมยอด เชื้อไม่ทิ้งแถว คงได้ซึมซับฝีมือมาจากแม่แน่นอน ลูกของครูได้ดิบได้ดีกันทุกคน ครูพะเยาว์เล่าต่อว่า “ฉันสอนเด็กที่โรงเรียน กลุ่มงานจักสานเขาเชิญให้ขึ้นพูดบนเวที มีคนนอกมาด้วย (ครูหมายถึงชาวต่างประเทศ) เขาพาฉันไปต่างประเทศด้วยนะ ไปดูงานฉันก็สังเกตเห็นงานที่เค้าทำ ไปไต้หวันไปกินที่ร้านอาหาร เขาตกแต่งด้วยโคมไฟจักสาน กลับมาฉันก็ทำบ้าง เพราะมีคนสั่ง ทำมากี่ครั้งก็ไม่พอขาย คนมาซื้อกันกลับไป บางครั้งคนจากศูนย์กรุงเทพมาบอกฉันว่าไม่อยากมาแล้ว มาทีไรก็อยากได้อีก มาแล้วเสียเงินซื้ออีกหลายพันบาท”
เป็นความจริงอย่างที่สุดเพราะในระหว่างที่คุยกัน ตาเหลือบไปเห็นของจักสานหลายชิ้น นึกอยากถามขึ้นมาทันที เพราะทำจากหวายธรรมชาติ มันสวยนุ่มนวลยวนใจเหลือเกิน ครูพะเยาว์พูดต่อว่า “ลูกค้าบางคนบอกฉันว่าของที่เค้าซื้อมาจากฉันไป เขาเปิดร้านเล็กๆขายได้เลยนะ” เมื่อได้ฟังก็นึกขำอยู่ในใจ ตูก็เหมือนกัน แม้จะยังเปิดร้านไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้จะเอาของที่ซื้อไปเก็บไว้ที่ไหน? พวกเราขอดูมือครูที่ทำงานจักสานไม่รู้หยุด และพบว่าเป็นมือของคนที่สร้างสรรค์งานสวยงาม มือครูแม้จะไม่หยาบกร้านแต่รอยถลอกจากงานสานปรากฎอยู่ทั่วไป มือคู่นี้ใช้จักสานภาชนะ เครื่องใช้ต่างๆ ทั้งถาด ตระกร้าทรงต่างๆ ขันโตก กระบุง ฯลฯ ใช้เงินที่ได้มาเลี้ยงลูกจนได้ดิบได้ดีกันทุกคน ครูพะเยาว์ชอบทำบุญ วันที่เพื่อนโทรหาในครั้งแรก ครูก็อยู่ที่งานบุญ ครูว่าเพราะครูทำบุญ ครูจึงอยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้
ครูบอกว่า วันนี้พวกเราถูกใจครูมาก ถ้าคนมาซื้อเรื่องมาก ครูจะไม่แนะนำของสวย ให้ไปเลือกเอาเอง ไม่สนใจ แล้วก็หัวเราะ ครูช่างแบบครูพะเยาว์ ใกล้ชิดในรั้วในวังมากกว่ากลุ่มใดๆ เพราะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีความรักและต้องการรักษาวัฒนธรรมไทย งานฝีมือต่างๆ ให้คงอยู่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น พระองค์ทรงเชิญชวนและรวบรวมช่างฝีมือต่างๆ ทรงให้การส่งเสริมและกำลังใจแก่ช่างฝีมือทุกหมู่เหล่า ครูพะเยาว์พูดด้วยความภูมิใจว่า ครูได้ถวายตะกร้างามๆ เต็มไปด้วยรายละเอียดแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาแล้วหลายใบ
เราก็ไม่ได้ต่างจากคนอื่นก่อนหน้านี้ที่แวะเวียนมาซื้องานจักสานบ้านกลางแดดจากครูพะเยาว์ เพราะเราจากมาด้วยตระกร้าหลายชนิด จนเต็มรถ ครูเดินมาส่งที่รถพร้อมโบกมือลาให้เราเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ เราขอบคุณครูด้วยความรู้สึกเต็มอิ่ม วันนี้ได้ความรู้ ได้ของสวย ได้รู้จักเบื้องหลังของคนทำงานช่างศิลป์ ก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ เราแวะเติมอิ่มให้ท้องที่จังหวัดสิงห์บุรีที่ ร้านกุ้งลุงชุบ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะว่าอย่างไรวันนี้ต้องกินกุ้งแม่น้ำพร้อมน้ำจิ้มรสจัดให้ได้ เมื่ออร่อยสมความอยาก มุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพฯ ตกดึกมานั่งชื่นชมและพิจารณาเครื่องจักสานแต่ละชิ้นด้วยความสุขใจ
CREDITS:
เรื่อง: ลีออง
ภาพ: มาศ เกียรติเสริมสกุล
สามารถอ่านคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ที่