สดุดีความงดงามแห่งดวงจันทร์ ด้วยนาฬิกามูนเฟส 5 รุ่นหรูใหม่ ที่โดดเด่นด้วยฉากแห่งพระจันทร์อันแสนโรแมนติกและความซับซ้อนทรงเสน่ห์ของกลไกขับเคลื่อนภายใน
5 Striking Moon Phases Watches for 2022 ฉลองรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือ Mid-Autumn Festival ในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 2022 นี้ ด้วย 5 นาฬิกามูนเฟส (Moon phases) สุดหรูหราจากเหล่าแบรนด์ผู้ผลิตเรือนเวลาชั้นนำ ผู้ร่วมถ่ายทอดฉากอันชวนหลงใหลแห่งดวงจันทร์ พร้อมทั้งการแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมอย่างแม่นยำ โดยการขับเคลื่อนของกลไกจักรกลสลับซับซ้อน ที่เสกสรรให้นาฬิกามูนเฟสเหล่านี้ทั้งงดงามและอยู่เหนือกาลเวลา
1. Patek Philippe Ref 7121/200G-001 Ladies’ Moon Phases
เรือนเวลาสุภาพสตรีที่มาพร้อมความสลับซับซ้อนอันเป็นยอดปรารถนา อย่าง การแสดงข้างขึ้น-ข้างแรม (moon-phase indication) ที่เปิดตัวอย่างสง่างามมาแล้วก่อนหน้านี้ภายในรุ่น Reference 7121J ของปี ค.ศ. 2013 และครั้งนี้ได้นำมาตีความใหม่ด้วยบทกวีแห่งจักรกล โดยถ่ายทอดความงดงามของดวงจันทร์ผ่านช่องหน้าต่างทรงโค้ง ถอดต้นแบบมาจากท้องฟ้ายามราตรีที่เต็มไปด้วยมวลหมู่ดาว และรับกับหน้าปัดกลางสีน้ำเงินตกแต่งลวดลายแบบซันเบิรสต์ (sunburst) โดยรุ่นนี้นำเสนอภายใต้ตัวเรือนไวท์โกลด์สวยงาม และขอบตัวเรือนยังประดับประดาด้วยเพชรเจียระไนบริลเลียนต์คัต 132 เม็ดแบบสองแถวลดหลั่นกันโดยใช้เทคนิค “Dentelle” อันอ่อนช้อยและละเอียดอ่อนแบบลูกไม้ ส่วนภายในทำงานด้วยกลไกจักรกลไขลานด้วยมือ Caliber 215 PS LU ซึ่งเป็นกลไกสลับซับซ้อนขนาดเล็กที่สุดของ Patek Philippe เพื่อให้สามารถบรรจุภายในตัวเรือนขนาดเส้นผ่านกลาง 33.0 มิลลิเมตรของรุ่นนี้ได้อย่างสง่างามลงตัว และจับคู่มาพร้อมกับสายหนังสีน้ำเงิน
2. Jaeger-LeCoultre Master Control Chronograph Calendar
การแสดงข้างขึ้น-ข้างแรม และจักรกลปฏิทิน นับเป็นอีกหนึ่งความสลับซับซ้อนระดับซิกเนเจอร์ของ Jaeger-LeCoultre และยิ่งในรุ่นนี้ยังผสมผสานเข้ากับจักรกลโครโนกราฟจับเวลาอันแม่นยำ ก็ยิ่งเสริมเสน่ห์และชวนให้ครอบครองมากขึ้นเป็นทวีคูณ มากไปกว่านั้น ยังเป็นการเปิดตัวคู่มากับระบบสายสตีลถอดเปลี่ยนได้ โดยเจ้าของสามารถจับคู่เข้ากับสายอื่นๆ ของแบรนด์ เช่นในรุ่นนี้สามารถถอดเปลี่ยนจากสายสตีลไปเป็นสายหนังวัวสีน้ำตาลอ่อนได้ ทำให้ Master Control มีความหลากหลายของรูปลักษณ์และโอกาสสำหรับสวมใส่ได้มากขึ้นกว่าที่เคย และสำหรับรุ่นสุดซับซ้อนในตัวเรือนสเตนเลสสตีล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40.0 มิลลิเมตรนี้ ประกอบรวมไว้ด้วยการแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมบนดิสก์สีน้ำเงินกับดวงจันทร์สีเงิน ที่บรรจุซ้อนอยู่ภายในหน้าปัดย่อยแสดงวันที่ ควบคู่กับการแสดงวันและเดือนผ่านช่องหน้าต่าง และจัดวางอย่างลงตัวกับบรรดาหน้าปัดย่อยแสดงผลการจับเวลาและแสดงวินาทีเล็ก โดยรายล้อมขอบรอบนอกสุดของหน้าปัดด้วยสเกล pulsometer ทำงานด้วยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ Jaeger-LeCoultre Calibre 759 ซึ่งสำรองพลังงานได้ถึง 65 ชั่วโมง
3. Vacheron Constantin Traditionnelle perpetual calendar ultra-thin
เชื่อมโยงระหว่างเวลาและการเดินทางของดวงจันทร์ ผ่านการแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมหรือมูนเฟสบนช่องหน้าต่างทรงโค้งที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา พร้อมทั้งแสดงปฏิทินถาวรหรือ perpetual calendar ที่ประกอบด้วยการแสดงวัน วันที่ เดือน และปีในรอบสี่ปี ซึ่งรวมไปถึงปีอธิกสุรทิน โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการปรับตั้งไปจนถึงปี ค.ศ. 2100 จากการประดิษฐ์และรังสรรค์กลไกจักรกลอันซับซ้อนภายในโรงงานของตนเอง อย่าง Calibre 1120 QP ซึ่งหนาเพียง 4.05 มิลลิเมตร พร้อมทั้งเผยความงดงามของการตกแต่งกลไกผ่านทางฝาหลังกระจกแซฟไฟร์ โดยรุ่นนี้นำเสนอในสองเวอร์ชันระหว่างความสง่างามของตัวเรือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36.5 มิลลิเมตร ที่ทำจากพิงค์โกลด์คู่หน้าปัดเปลือกหอยมุกสีขาว หรือไวท์โกลด์คู่หน้าปัดเปลือกหอยมุกสีฟ้า-เทา ผสานเข้ากับขอบตัวเรือนที่ปรับให้บางลง ตลอดจนหูตัวเรือนเชื่อมสายแบบเล่นระดับ ประดับตกแต่งด้วยเพชร เช่นเดียวกับบนเม็ดมะยมประดับด้วยเพชรอีกหนึ่งเม็ด และนับเป็นครั้งแรกในคอลเลกชัน ที่รุ่นนี้มาพร้อมกับสายนาฬิกาสามารถถอดเปลี่ยนได้อย่างง่ายดายด้วยระบบปุ่มกดและไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วย
4. Cartier Pasha de Cartier Moon Phase watch
การเคลื่อนไหวเพื่อแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมหรือมูนเฟสในผลงานรุ่นนี้ นับเป็นความโดดเด่นและสะกดสายตา โดยการเดินทางผ่านรูปทรงโค้งของท้องฟ้ายามค่ำคืนซึ่งถ่ายทอดภายใต้เฉดสีน้ำเงินเข้มหรือมิดไนท์บลู ทั้งยังเต็มไปด้วยดวงดาวพราวแสง และดวงจันทร์สีทองหรือสีเงิน ที่ตัดกับรูปโฉมอันสง่างามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Pasha de Cartier ผลงานรุ่นนี้ขับเคลื่อนด้วยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ พัฒนาและผลิตในโรงงาน อย่าง Manufacture 1904 LU MC ซึ่งทำงานความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมงหรือ 4 เฮิรตซ์ และสำรองพลังงานได้ 48 ชั่วโมง เปิดตัวด้วยการบรรจุภายในเวอร์ชันโรสโกลด์ทั้งเรือน และเวอร์ชันสตีล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือน 41.0 มิลลิเมตร หนา 9.55 มิลลิเมตร พร้อมทั้งเม็ดมะยมประดับด้วยแซฟไฟร์คาโบชองหรือสปิเนลคาโบชอง คู่หน้าปัดบรรจุมาร์กเกอร์ชั่วโมงสีน้ำเงินซึ่งล้อมกรอบด้วยทองหรือสตีล ทั้งยังประกอบคู่มากับสายระบบ QuickSwitch สำหรับถอดเปลี่ยนได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทั้งจากสายหนังจระเข้สีน้ำเงินหรือสายหนังจระเข้สีเทา
5. Breguet Classique Calendar 7337
อีกหนึ่งผลงานรุ่นสัญลักษณ์ของทั้ง Breguet และคอลเลกชัน Classique ด้วยนาฬิกาแสดงปฏิทินรุ่นใหม่ ซึ่งมาพร้อมสไตล์การตีความอันทันสมัยและงดงาม โดยการแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมและปฏิทินอย่างแม่นยำ มาพร้อมตัวเรือนไวท์โกลด์หรือโรสโกลด์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 39.0 มิลลิเมตร ตกแต่งหน้าปัดแบบเยื้องศูนย์ด้วยทักษะและงานฝีมือชั้นครู อย่างการแกะสลักกิโยเช่ (guilloché) ด้วยมือเป็นลวดลาย Clous de Paris ละเอียดอ่อน โดยบรรจุช่องหน้าต่างแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมไว้ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา เสมือนปรากฏการณ์แห่งดวงจันทร์บนฟากฟ้าจริงๆ ขณะที่บนรูปดวงจันทร์ทำจากทองและตอกด้วยมือเป็นลวดลายพื้นผิวพิเศษ รายล้อมด้วยก้อนเมฆตกแต่งแบบแซนด์บลาสต์ (sandblasted) ให้มิติแบบผิวด้าน ส่วนบนท้องฟ้าเคลือบแล็กเกอร์สีน้ำเงินพร่างพราวไปด้วยดวงดาว และนอกเหนือจากการแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมแล้ว รุ่นนี้ยังครบครันด้วยการแสดงชั่วโมง นาที และวินาที ผ่านเข็มชี้สตีลสีน้ำเงินทรง Breguet และแสดงวันที่และวันบนช่องหน้าต่าง ณ ตำแหน่ง 2 และ 10 นาฬิกาตามลำดับ ทำงานโดยกลไกจักรกลไขลานอัตโนมัติ Calibre 502.3 QSE1 ความถี่ 3 เฮิรตซ์ สำรองพลังงานได้ 45ชั่วโมง
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF PATEK PHILIPPE, JAEGER-LECOULTRE, VACHERON CONSTANTIN, CARTIER, BREGUET
VIDEO: Perayut Limpanastitphon
GRAPHIC DESIGNER: Vanicha Limpanastitphon
สามารถติดตามคอนเทนต์ นาฬิกา อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่