ค้นหาความขาดพร่องและความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ผ่านงานศิลปะสีขาวดำไปกับนิทรรศการ 400-700 นาโนเมตร โดย อภิสิทธิ์ ศิดสันเทียะ
400-700 นาโนเมตร คือ ความยาวคลื่นแสงที่สายตามนุษย์มองเห็นเป็นสีได้ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสเปกตรัมความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีอยู่มหาศาล ตัวอย่างคลื่นความถี่อื่นๆ ที่เรามองไม่เห็นแต่คุ้นเคยกันดีคือ คลื่นรังสีเอ็กซเรย์ คลื่นรังสียูวี คลื่นไมโครเวฟ และคลื่นวิทยุ เป็นต้น ดังนั้น การรับรู้ของมนุษย์จึงเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในจักรวาลที่เป็นอนันต์ มันตอกย้ำให้เรารู้ว่า มนุษย์นั้นมีข้อจำกัดและขาดพร่องล้นเกินอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของการรับรู้ บุคลิกลักษณะ และความเป็นตัวตน ในนิทรรศการนี้ของ อภิสิทธิ์ ศิดสันเทียะ ได้สะท้อนประเด็นเหล่านี้ผ่านผลงานจิตรกรรมที่ลดทอนการใช้สีลง และเน้นความคลุมเครือ ความไม่สมบูรณ์แบบ และความเป็นอนันต์ของมนุษย์
ถอยห่างจากทฤษฎีสี เพื่อเน้นสัมผัสที่แท้จริง
ด้วยการลดทอนการใช้สีลง อภิสิทธิ์ถอยห่างออกจากทฤษฎีสี เขาตระหนักถึงการที่บางสีก็ไม่ได้อยู่บนสเปกตรัมที่แยกออกมาจากแสงขาว และยอมรับการอยู่กับสภาวะตาบอดสี ซึ่งทำให้เขาเองไม่สามารถรับรู้สีบางสีได้ มากไปกว่านั้น การเปลี่ยนโลกให้เป็นโมโนโครม ขับเน้นให้ทัศนธาตุอื่นๆ ทำงานกับสายตาอย่างเข้มข้นขึ้น ความไร้สีสรรให้อิสระทางจินตนาการ เปิดพื้นที่ให้กับการแปรสภาพกลายเป็นสิ่งอื่น (becoming) ในอีกแง่หนึ่ง ภาพขาวดำคือโลกที่เราไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตประจำวัน เปรียบดั่งจักรวาลและอวกาศอันมืดมิดที่เต็มไปด้วยพื้นที่ที่มนุษย์ไม่อาจหยั่งถึงได้
การแปรสภาพ และการรับรู้ที่ไม่สมบูรณ์แบบ
รูปร่างคล้ายรูโหว่ในงาน นอกจากจะเป็นพื้นที่ว่างแล้ว ก็สามารถแปรสภาพเป็นอีกรูปทรงหรือเลเยอร์ที่ซ้อนทับ อาจเป็นน้ำหนักและมิติที่ถูกปะติดปะต่อใหม่ภายใต้ความแบนอันเป็นข้อจำกัดของงานจิตรกรรม ท่ามกลางโลกที่มีทัศนวัฒนธรรม (visual culture) ซึ่งให้ความสำคัญกับสีสรรและความละเอียดคมชัดในระดับพิกเซล การรับรู้และตีความสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนในบางทีอาจเกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก แต่อภิสิทธิ์เลือกที่จะชักนำให้กระบวนการนี้ช้าเชือนลงบ้าง ด้วยการให้คุณค่ากับความคลุมเครือและความไม่สมบูรณ์แบบในตัวงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะทางสุนทรียศาสตร์เเบบหลังสมัยใหม่ (post-modernism)
เชิญชวนให้สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์
งานของอภิสิทธิ์ ศิดสันเทียะ เชิญชวนให้เราสะท้อนถึงสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เราคิดว่าจริง รวมถึงความปรารถนาที่จะเติมเต็มความขาดพร่องของมนุษย์ หรือความคงที่สมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง ในขณะที่ตัวตนและการดำรงอยู่ (existence) ของปัจเจกบุคคล ก็ไม่ใช่สิ่งที่มั่นคงตายตัว แต่กลับมีคุณสมบัติที่เป็นอนันต์ เปลี่ยนเเปลง ลื่นไหล และกลายเป็นสิ่งอื่นได้เสมอ
งานศิลปะสีขาวดำ อภิสิทธิ์ ศิดสันเทียะ ค้นหาความขาดพร่องและความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมได้สะท้อนถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่คิดว่าจริง และความปรารถนาที่จะเติมเต็มข้อจำกัดของตัวเอง นิทรรศการ ‘400-700 นาโนเมตร’
เชิญชวนให้เราสะท้อนถึงสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เราคิดว่าจริง รวมถึงความปรารถนาที่จะเติมเต็มความขาดพร่องเหล่านี้
เกี่ยวกับศิลปิน
Aphist Sid (นามปากกา)
Aphisit Sidsunthia – อภิสิทธิ์ ศิดสันเทียะ
จบการศึกษา ปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต (จิตรกรรม) คณะศิลปกรรมศาสตร์ จิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี และ ปริญญาโท ศิลปมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปีพ.ศ. 2560 – รางวัลยอดเยี่ยม การประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 19 ประจำปี 2560 หอศิลป์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และ ปี พ.ศ. 2559 – รางวัลรองชนะเลิศ การประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 18 ประจำปี 2559 หอศิลป์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นิทรรศการเดี่ยว โดย – Aphist Sid เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 4-26 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ 333GALLERY / Bangkok (warehouse30)
CREDITS:
PHOTOS: COURTESY OF 333GALLERY
สามารถติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่