การจักสานด้วยเตยปาหนัน ของครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ของ SACICT


กลุ่มชุมชนบ้านนาชุมเห็ด รวมเป็นกลุ่มจักสานโดยใช้เตยทุ่งที่เป็นพืชพื้นถิ่น ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน เตยปาหนันนี้จะมีทั้งความยืดหยุ่นและทนทาน จึงนำมาใช้ทอเสื่อ ใช้ในชีวิตประจำวัน


การจักสานด้วยเตยปาหนัน วางลงบนพื้นบ้านที่แผ่นกระดานวางห่างจนเป็นร่อง นอกจากจะใช้นั่งนอนแล้ว ยังช่วยให้ของในกระเป๋าตกลงบนผืนเสื่อ ไม่ตกลงไปลงบนพื้นร่องใต้ถุนบ้าน! เสื่อทอลายแบบสวย เพื่อบ่าวสาว ปูรับขันหมาก ในพิธีของอิสลาม จากผืนเสือ ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ชาวอำเภอปะเหรียน จังหวัดตรัง มีพี่น้อง 8 คน เธอเป็น บุตรสาวคนที่ 3 ของครอบครัวชาวประมง ครูตั้งใจอนุรักษ์ให้งานจักสานเตยปาหนันยังคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น ถักเป็นหมวกปีกกว้าง ที่ไร้รอยต่อ ทำให้ดูสวยงามกลมกลืน และไม่เจ็บศีรษะเวลาสวมใส่ ทอกระเป๋าหิ้ว กระเป๋าสะพาย ของที่สวยเป็นสากลนิยม ยามหน้าร้อนสาว ๆ และแบรนด์แฟชั่นต่างนำเครื่องจักสานเหล่านี้ มาเป็นเครื่องประดับที่เก๋ไก๋ ครูอ๊ะ ได้พัฒนาต่อยอดจากการสานเสื่อเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มาเป็นสานเสื่อสรรพสีเป็นรูปทรงกลม ด้วยเส้นเตยปาหนันเส้นเล็ก และสานโดยพยายามไม่ให้มีรอยต่อ จึงมีความสวยงามละเอียดลออยิ่งนัก ซึ่งไม่เพียงแต่การใช้มือสานเท่านั้น แต่ยังต้องใช้จินตนาการ การออกแบบ และการผสานคู่สีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เทคนิคการสานเสื่อวงกลมนี้ ได้จดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว

ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ของ SACICT และนายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการ ศศป.
ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ของ SACICT และนายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการ ศศป.

กลุ่มของครูอ๊ะ มีตั้งแต่เด็ก ๆ สาวรุ่นผู้จบปริญญาตรี ไปจนถึงคุณย่าคุณยายอายุ 70-80 ปี สมาชิกทุกคนทำด้วยใจรัก ในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากรุ่นสู่รุ่น ครูอ๊ะเล่าถึงแม่ของครูผู้ช่วยสอนครูมาตั้งแต่เด็กๆ ครูพูดด้วยความภูมิใจทุกครั้ง ครูเล่าว่าก่อนหน้าโควิด 19 จะระบาด กลุ่มของครูผลิตงานส่งออกมากมาย แทบจะทำไม่ทัน ช่วงนี้ก็ชะลอการผลิต กลุ่มของครูมีทั้งผลิตของขายเอง และผลิตของตามสั่ง ครูว่าส่งแบบมาเถอะครูสามารถสานได้ทุกอย่าง

ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (SACICT) เล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มจักสาน และเห็นความจำเป็นในการรีบส่งเสริมให้กลุ่มผู้ผลิตได้จักสานผลิตภัณฑ์อันได้มาตรฐานสากล ในการส่งออก เพราะมีกฎเกณฑ์และกฎหมายต่าง ๆ มากมาย เช่น หากเตยปาหนันเป็นพืชพื้นบ้าน ลำต้นสูงเป็นกอ ใบเรียวยาวสีเขียว จะมีเดือยบริเวณราก และเพราะเดือยนี้เอง จะช่วยลดการกัดเซาะของน้ำทะเลได้บางส่วน ดังนั้น เมื่อเราตัดเตยมาใช้ เราได้มีการปลูกต้นเตยทดแทนไหม สีย้อมของเส้นเตยเป็นสีธรรมชาติไหม ในปัจจุบันยังคงเป็นสีสังเคราะห์ เพราะสีธรรมชาติย้อมไม่ติด ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ทาง SACICT จะต้องช่วยเร่งหาผู้เชี่ยวชาญมาทำการวิจัยและแก้ไข

การจักสานด้วยเตยปาหนัน

แม้เส้นเตยมีคุณสมบัติดีมีความหนาแน่น แต่กลับซึมซับสีธรรมชาติได้ยาก จึงต้องใช้สีสังเคราะห์ ซึ่งอาจไม่พึ่งประสงค์ต่อนโยบายรักษ์โลก และกฎการค้า การส่งออกของสากล อีกทั้งต้นเตยเอง ก็มีใบแหลมคมเสมือนหนามอยู่ที่เส้นกลางใบ และที่ขอบใบทั้งสองข้าง ต้องมีกรรมวิธีฉีกใบเตยด้วยความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการกรีดเส้นหนามที่เส้นกลางใบออกก่อน แล้วจึงค่อยๆ นวดใบ แล้วกรีดหนามจากใบทั้งสองด้าน นำมานวดอีก แล้วจึงย้อมสี ทางผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิจัยของ SACICT สามารถช่วยเสริมด้วยการติดต่อหน่วยงานวิจัยเรื่องการย้อมสีธรรมชาติอย่างไรให้ติดใบเตยปาหนันได้ มีหน่วยวิศวกรรมใดที่สามารถประดิษฐ์ หรือหาเครื่องจักรขนาดเล็กในการช่วยกรีดเส้นเตย เพื่อช่วยร่นเวลา อีกทั้งการออกแบบต่างๆ ที่จะช่วยเสริมมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงช่องการขาย ทั้งการอบรมต่าง ๆ รวมทั้งการคิดราคา เพราะบางทีกลุ่มผู้จักสานลืมคิดถึงต้นทุนค่าแรงของตนเอง จนขายผลิตภัณฑ์ขาดทุนไปโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์การ SACICT สามารถจะช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ เสริมทักษะ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาได้

การจักสานด้วยเตยปาหนัน

งานของครูอ๊ะ เป็นงานฝีมือที่โชว์พื้นผิวของธรรมชาติ สอดสานไปตามจังหวะมือของแต่ผู้จักสาน เสน่ห์ของงานอาจไม่ใช่ความสม่ำเสมอหรือความเป็นระเบียบ แต่กลับเป็นความไม่สม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นความมีชีวิตชีวาของงานฝีมือ นอกจากสินค้าทางด้านเครื่องประดับทางแฟชั่นแล้ว สินค้าเหล่านี้สามารถนำมาดัดแปลงเป็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับตกแต่งบ้าน​และ​อื่น ๆ ได้อีกมากมาย​


เครื่องจักสานเตยปาหนันจากชุมชนบ้านดุหุนสามมัคคี 

นอกจากที่อำเภอย่านตาขาว ตำบลบ้านนาชุมเห็ดแล้ว ยังมีอีกหลายชุมชนในต่างอำเภอ ที่นิยมนำเอาพืชท้องถิ่นอย่าง ‘เตยทะเล’ หรือในอีกชื่อที่มักเรียกกันว่า ‘เตยปาหนัน’ นำมาสร้างสรรค์เป็นงานหัตถกรรมลวดลายงดงาม และทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเช่นกัน จักสานเตยปาหนัน ไม่เพียงเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นการถ่ายทอดความรู้และความรัก อันเป็นเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม และเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนอีกด้วย

ณ อำเภอสิเกา ที่นี่เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์และสานต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในด้านงานหัตถกรรมเครื่องจักสานใบเตยปาหนัน โดยมี สมาชิก SACICT อย่าง คุณจันทร์เพ็ญ ปูเงิน ทายาทรุ่นที่ 4 ของครอบครัวจักสานใบเตยปาหนัน และผู้นำกลุ่มแม่บ้านเกษตกรบ้านดุหุนสามัคคี เป็นผู้นำกลุ่มแม่บ้านมุสลิมประมาณ 40 คน เป็นผู้สานต่อ รวมทั้งมีการทำงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ร่วมมือกับทาง SACICT อีกด้วย

การจักสานด้วยเตยปาหนัน: คุณจันทร์เพ็ญ ปูเงิน สมาชิก SACICT ( ซ้าย ) นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการ ศศป. ( ขวา )
คุณจันทร์เพ็ญ ปูเงิน สมาชิก SACICT ( ซ้าย ) นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการ ศศป. ( ขวา )

แต่นอกเหนือจากการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ที่ชุมชนบ้านดุหุนสามัคคีแห่งนี้ มีการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานจากใบเตยปาหนัน ให้มีความทันสมัยและเข้ากับบริบทในสังคมปัจจุบันมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การสร้างแบรนด์  ปาแน ( Panae ) ที่เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานหัตถกรรมแห่งภูมิปัญญา และบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวมุสลิมชุมชนบ้านดุหุนสามัคคีไว้ได้อย่างดี

‘มุกยา’ หรือ ‘กำแปต’ ในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านจะสานเอาไว้สำหรับเก็บยาเส้น มีเอกลักษณ์พิเศษ ใช้วิธีการสานใบเตยปาหนันสองชั้น ที่สามารถช่วยกักเก็บความชื้นให้ใบยาเส้นไม่แห้งกรอบ พร้อมเสริมความสวยงามด้วยการชุนเส้นลายน้ำ โดยปัจจุบัน คุณจันทร์เพ็ญ ปูเงิน ได้มีการปรับรูปแบบการใช้งาน สามารถนำมาใส่หูฟัง แอร์พอดส์ ( AirPods ) ลิปสติกแท่งขนาดย่อม หรือจะใช้เก็บเงินเหรียญก็ได้

‘สาดเตย’ อีกหนึ่งสินค้ายอดนิยมที่ผู้มาเยี่ยมเยียนต้องซื้อกลับติดไม้ติดมือเป็นทุกครั้ง สาด หรือ เสื่อที่ถักขึ้นด้วยเตยปาหนัน จะมีความนิ่ม ทั้งยังสามารถระบายอากาศได้ดีไม่อับชื้น นอกจากนี้ยังมีสันสันและลวดลายอันสวยงาม ในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่มักสานสาดขึ้นเพื่อเอาไว้ปูนอน บ้างก็นำเอาไปรองนั่งเวลาละหมาด หรือทำพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งเมื่อใกล้ถึงช่วงระยะเวลาสุดท้ายของชีวิต ก็มักจะถักสาดเตยเตรียมเอาไว้สำหรับตนเองหนึ่งผืน เพื่อใช้ในการรองศพก่อนนำเอาไปประกอบพิธีศพแบบชาวมุสลิม

นอกจากการสานมุกยาและสาดเตยแล้ว ทางแบรนด์ปาแนโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตกรดุหุนสามัคคี ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเตยปาหนันอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าถือรูปทรงทันสมัยตกแต่งด้วยหนัง กระเป๋าหนีบ หรือคลัตช์ (clutch) ซองแว่นตา รวมไปถึงหมอนมีชายครุย เสื่อสาดลายเก๋สำหรับตกแต่งบ้าน

สามารถเข้าไปดูผลงานและอุดหนุนกลุ่มแม่บ้านเกษตกรบ้านดุหุนสามัคคีได้ที่ Facebook : Panae Craft


CREDIT:
PHOTOGRAPHY & VIDEO: MAS KIATSERMSAKUL


สามารถอ่านคอนเทนท์เกี่ยวกับงานศิลปะ และ Lifestyle ที่น่าสนใจได้ที่

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

“VIJIT CHAO PHRAYA 2024”

VIJIT CHAO PHRAYA 2024

Post Views: 13 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 จัดงาน “VIJIT CHAO PHRAYA 2024 กระทรวงการท…

Tarot 17 nov

Your Tarot Weekly

Post Views: 21 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Penthouse Bar + Grill at Park Hyatt Bangkok

Post Views: 6 เพนท์เฮาส์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ณ โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เปิดตัวประสบการณ์แฮงค์เอ๊าท์ ‘Reimagined’ สุดเอ็กซ์คลูซีฟ Penthouse Bar + Gril…

Your Tarot Weekly

Post Views: 48 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Holiday Season – Sunny Fredland

Post Views: 12 ฉลองช่วงเวลาแห่งความสุขสุดพิเศษไปกับ Sunny Fredland Fred (เฟร็ด) เชิญสัมผัสประสบการณ์ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่เปล่งประกายด้วยความสดใสจากกา…