“หัตถศิลป์ถิ่นใต้ จากใจย่ายาย สู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่” ล่องจังหวัดตรังกับทีมงาน SACICT


เยี่ยมเยือนศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง พร้อมชมพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี ภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดตรัง


หัตถศิลป์ถิ่นใต้ เรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นและการทอ จากผ้าทออายุกว่า 200 ปี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา padthai.co ได้มีโอกาส ติดตามทีมงานคณะ SACICT โดยมีท่านผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมระหว่างประเทศ นายพรพล เอกอรรถพร เป็นผู้นำทีมไปเยี่ยมชม ศิลปหัตกรรมการทอผ้าที่สำคัญ ของกลุ่มชาวตำบลนาหมื่นศรี ความประทับใจคือ กลุ่มสตรีทอผ้าได้เตรียมต้อนรับนักข่าวชาวกรุงอย่างอบอุ่น โดยมีครู อารอบ เรืองสังข์ ประธานชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อธิบายความเป็นมาของกลุ่ม นอกจากการแสดงการทอผ้าลายต่างๆ แล้ว ครูอารอบ ยังได้พาชม พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี และบรรยายลงลึกถึงผ้าแต่ละผืน แต่ละลาย ที่มาจากวิถีชีวิตและธรรมชาติรอบตัว

ตำบลนาหมื่นสี จังหวัดตรัง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลอนลูกฟูก ปลูกสวนยางและปลูกข้าว ชุมชนมีความผูกพันกับวัด โนราห์ ลิเกป่า ผ้าทอ และเพลงกล่อมลูก ในอดีตชาวนาหมื่นสีนิยมปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย ย้อมสี ไปจนถึงทอผ้าเอง มาในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโรงงานทอผ้าเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านเลิกทอผ้าเอง พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 เสด็จมายัง อำเภอนาโยง ตั้งแต่นั้นมาก็ได้เกิดชุมชนรวมกลุ่มฟื้นฟูผ้าทอมือนาหมื่นสี นำถวายผ้าห่มลายลูกแก้วตลอดมาแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9

หัตถศิลป์ถิ่นใต้ ทอลวดลาย

การทอผ้าด้วยความรักในงานหัตถกรรม ย่อมได้ผ้าผืนงามจากฝีมือช่างชั้นครูที่สืบทอดวิชากันมาตั้งแต่รุ่นย่ารุ่นยาย ฝีมือช่างทออย่างครูลัดดา ชูบัว ทอด้วยความเชี่ยวชำนาญ (และอย่างมีสมาธิ) อย่างที่ครูอารอบ อธิบายให้เราฟังคือ จะพลั้งเผลอ แล้วพลาดไม่ได้เลย เพราะนั่นคือผ้าจะเสียไปทั้งผืน กว่าจะชำนาญดั่งครูช่างผู้มาทอให้เราชม ก็ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในการเรียนรู้จาก ย่า ยาย และแม่ที่คอยพร่ำสอน เริ่มจากลายหลักๆ ก่อน อย่างลายลูกแก้ว แล้วจึงค่อยขยับขึ้นเป็นลายที่ท้าทายและยากขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงการออกลายใหม่ๆ ขึ้นมา จวบจนปัจจุบันเก็บรวบรวมได้ถึง 32 ลาย

ความรู้ที่ถ่ายทอดจากย่ายาย
จากครูกุศล นิลลออ (พ.ศ. 2473-2560) ครูศิลป์ของแผ่นดินพ.ศ. 2554 (ครูได้จากไปในปีพ.ศ. 2560) ถือได้ว่าเป็นบรมครูที่มีเอกลักษณ์ด้วยเทคนิกการทอที่ขึ้นชื่อว่ายากมาก แต่งงานกับชายหนุ่มที่เป็นกำนัน เมียกำนันจึงต้องสร้างสัมพันธ์อันกับลูกบ้านด้วย ยายกุศลเป็นผู้กว้างขวางในชุมชน และได้บ่มวิชาและถ่ายทอดเคล็ดลับการทอผ้าให้กับเหล่าแม่บ้านชุมชน จนกลายเป็นผู้นำกลุ่มทอผ้านาหมื่นสีไปโดยปริยาย นอกจากจะช่วยรักษางานศิลปหัตถกรรมแล้ว ครูยังช่วยให้เหล่าสมาชิกทอผ้ามีรายได้ช่วยเลี้ยงดูครอบครัวอีกด้วย กลุ่มทอผ้านาหมื่นสี จึงได้รับการสนับสนุนจากทางการอย่างต่อเนื่อง จนสมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกคนยอมรับว่า หากไม่มียายกุศล คงไม่มีวันนี้ของกลุ่มทอผ้านาหมื่นสี

นอกจากคุณยายกุศลแล้ว ยังมีครูที่ทอผ้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับครูกุศล นับเป็นผู้ช่วยมือซ้ายและขวาคนสำคัญของท่านเลย คือยายเฉิม ชูบัว แม่ของครูลัดดา (พ.ศ. 2467-2560) และยายฝ้าย สุขคธ (พ.ศ. 2467-2546) (ท่านทั้งสองได้จากไปในเวลาไล่ๆ กับครูกุศล) คุณยายฝ้ายเป็นผู้ที่ชอบคิดลายใหม่ๆ ขึ้นมาเอง ผ้าของยายจึงไม่เหมือนใคร เช่น ลายครุฑ ยายบอกว่าดูจากหน้าศาลากลาง ลายอื่นๆ เช่น ลายนกเหวก (หรือ นกการะเวก) ยายทำขึ้นมาจากที่เคยเห็น ส่วนลายนางฟ้าและลายตุ๊กตา หรือรูปคน ก็นึกจากจินตนาการ

มีรูปภาพจากหมู่แม่บ้านสตรีอีกนับยี่สิบกว่าท่าน เป็นภาพที่ระลึกแขวนอยู่บนผนังของพิพิธภัณฑ์ผ้าแห่งนี้ นับเป็นรุ่นบุกเบิกของกลุ่มทอผ้า รังสรรค์ลายผ้าต่างๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้เก็บรวบรวม ทำการอธิบายไว้อย่างละเอียดเพื่อเป็นองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นลายปลา ลายครุฑ ลายหงส์ ลายนกการะเวก ลายพืชพรรณและลายดอกไม้ เช่น ลายท้ายมังคุด ลายช่อมะละกอ แก้วกุหลาบ ดอกจัน รวมไปถึงลายจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว อย่าง พานรัฐธรรมนูญ ตุ๊กตาถือบัว ครูอารอบเล่าอย่างติดตลกว่าก็ไม่มีตุ๊กตาจะเล่น ก็เลยทอลายตุ๊กตาแทน จากนี้ก็ได้พยายามสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ เช่นลายมักกะลีผล หรือ นารีผล ผลไม้จากตำนานป่าหิมพานต์ ที่มีต้นไม้ออกลูกเป็นผู้หญิง (เมื่อผลสุกแล้ว บรรดาฤาษี กินร คนธรรพ์ จะนำไปสังวาส)

ชมผ้าทอเก่าแก่กว่า 200 ปี มีรอยขาดวิ่นบางส่วน และสีซีดไปตามกาลเวลา ถูกจัดเรียงอย่างสวยงามเป็นระเบียบพร้อมคำอธิบาย คือผ้าพาดลายแก้วชิงดวง (ผ้าหมายเลข 088) จาก ปริ่ม กาญจนาพรหม ปีพ.ศ. 2489 อันเป็นตัวอย่างลายแก้วชิงดวงที่เก่าแก่ที่สุด
เราสามารถแบ่งผ้าจากนาหมื่นศรีตามวิธีทอได้ 2 แบบคือ 1. ผ้าลายมรดก ทอด้วยหูกหรือกี่พื้นบ้าน ช่างทอจะทอตามลายจินตนาการของตนเอง 2. ผ้าลายพัฒนา ทอด้วยกี่กระตุก ตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสอน มีการสร้างลายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทอได้ผ้าหน้ากว้าง ผืนใหญ่ และทอได้รวดเร็วขึ้น

ตามวิถีชาวบ้านของคนนาหมื่นศรี แบ่งผ้าตามการใช้งานเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1 คือ ผ้าห่มและผ้าพาด เป็นผ้าผืนแคบ เป็นสไบห่มทับเสื้อ ผืนกว้างใช้โพกศีรษะและคาดเอว เมื่อคาดที่เอวยังใช้ประโยชน์เป็นเสมือนกระเป๋า เก็บผัก ผลไม้กลับมาบ้าน ส่วนประเภทที่ 2 คือ ผ้านุ่ง เช่น ผ้าถุง หรือโสร่ง ผ้าโจงกระเบน จะนิยมทอลายหางกระรอก ตาสมุก ราชวัตร สำหรับผ้าโสร่งชาย นิยมทอเป็นผ้าตา มีทั้งลายผ้านุ่งตาเล็ก และตาใหญ่ และประเภทที่ 3 คือ ลูกผ้า ผ้าเช็ดหน้าจัตุรัส ใช้เป็นผ้ากราบหรือห่อของ ครูอารอบบอกว่า สาวๆหรือภริยาก็จะทอผ้าเหล่านี้ให้คนรัก

3 ผืนใน 1 ช่วงชีวิต
มีผ้า 3 ชุด ที่ผู้หญิงจะทอขึ้นไว้ใช้ คือผ้าตั้ง หญิงสาวจะทอไว้ใส่พาน เตรียมสำหรับเจ้าบ่าวในวันแต่งงาน ผ้าห่ม พวกแม่ๆก็จะทอเตรียมไว้ให้ลูกชาย ที่จะเป็นนาคตอนก่อนบวช ส่วนผ้าพานข้าง ย่าและยายจะทอเตรียมไว้ 2 ชุด สำหรับพาดโลงศพของตนเองและสามี ผ้าพานข้างจะมีบักษณะเป็นลูกผ้า หรือผ้าเช็ดหน้ามาเรียงต่อกัน หลังงานศพ ถ้าไม่ได้ถวายพระ พวกลูกหลานจะตัดแบ่งกัน เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก

ในคณะของ SACICT ที่มาเยี่ยมชมครั้งนี้ ได้นำผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาดูงาน เพื่อพัฒนาต่อยอด อย่างการส่งเสริทการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่ถูกใจผู้บริโภค ทั้งในเรื่องการนำวิทยาการ และนวัตกรรมอย่างการเคลือบนาโนในเนื้อผ้าเพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องผ้ายับ และเพื่อสะดวกในการซักรีด และเครื่องทุ่นแรงบางอย่างมาใช้ แต่ยังคงคุณค่าทางภูมิปัญญาของชาวบ้านอยู่ ทางหมู่ช่างทอเองก็พยายามหาวัสดุอื่นๆ นอกจากฝ้ายที่เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ทางภาคใต้อยู่แล้ว เช่น การพยายามปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมเองเป็นการเพิ่มมูลค่าของการทอ เพราะสุภาพสตรีผู้นิยมผ้าทอ ลายทอ ยังนิยมผ้าทอบนไหม ซึ่งสวยงาม และได้ทั้งคุณค่าและราคา ในเมื่อต้องลงแรงในการทอที่แสนจะยากเย็นและละเอียดลออแล้ว หากใช้ไหมชั้นดีไปเลย ก็ยิ่งเสริมคุณค่างานฝีมือเหล่านี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เราจากมาด้วยความประทับใจต่อการต้อนรับที่อบอุ่น การสาธิตและการบรรยายการทอผ้าที่มาจากความรัก สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความผูกพันของครอบครัวไปจนถึงการพัฒนาชุมชน


CREDIT:
PHOTOS BY COURTESY OF SACICT

PHOTOGRAPHER: Mas Kiatsermsakul
ART DIRECTOR: Perayut Limpanastitphon



สามารถติดตามคอนเทนต์ Lifestyle อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ ที่นี่

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn
On Key

Related Posts

Your Tarot Weekly

Post Views: 17 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศ…

Your Tarot Weekly

Post Views: 233 คำพยากรณ์รายสัปดาห์ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน – วันเสาร์ที่​ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดย​ มาดามราเชล วันอาทิตย์ นิสัย​ของดาว : ยศศ…

สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย

Post Views: 51 ททท. เปิดตัวโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” ดึง 4 เซเลบริตี้ต่าง Gen รุกประชาสัมพันธ์สร้างกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภา…

“Detective Conan 30th Anniversary Exhibition in Bangkok”

Post Views: 25 ร่วมเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี ของการตีพิมพ์มังงะในตำนานอย่าง “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” คาแรคเตอร์สุดไอคอนิกเจ้าของวลี “ถึงตัวจะเป็นเด็ก แต่สม…

Hermès Horloger Slim d’Hermès Flagship

Post Views: 45 Hermès พาออกเดินทางไปกับเรือใบบนนาฬิการุ่น Slim d’Hermès Flagship ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบูติกแห่งประวัติศาสตร์ Hermès (แอร์เมส) เชิญชวน…