เปิดโผรายชื่อภาพยนตร์เข้าชิงรางวัล สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 ทั้ง 17 สาขา และทำความรู้จัก 5 ภาพยนตร์เด่นประจำปี 2019-2020 ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ สำหรับประเด็นของผู้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 ที่ปีนี้รวมเอาภาพยนตร์ปี 2019 และ 2020 มาตัดสินร่วมกัน หลังจากปีที่แล้วต้องงดจัดงานไปเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ปีนี้งานประกาศรางวัล สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 จะมีขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ โคราช จังหวัดนครราชสีมา และถ่ายทอดผ่านช่อง เวิร์คพอยท์ ช่อง 23 ตั้งแต่เวลา 22.15 น. เป็นต้นไป
โดยเลือกสถานที่จัดงานตามนโยบายการจัดงานที่มุ่งเน้นความสำคัญของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างอย่างนครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์และบุรีรัมย์
ในปีนี้รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ยังคงมอบ 17 สาขารางวัล แด่ภาพยนตร์ทรงเกียรติที่เสริมสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพื่อยกย่องและเฉลิมฉลองแก่ความเป็นเลิศของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
หลังจากสมาพันธ์ภาพยนตร์ได้ออกมาประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงทั้ง 17 สาขา ก็ได้มีการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงบนอินเตอร์เน็ตว่ารายชื่อในบางสาขาปีนี้ค่อนข้างจะไม่เข้าตา และดูเหมือนนักแสดงที่มีผลงานโดดเด่นบางคนกลับไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิง
วันนี้ Padthai.co เลยสรุปรายชื่อเข้าชิงในทุกสาขารางวัล พร้อมพาทุกคนไปรู้จักกับ 5 หนังเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีนี้ด้วย
รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019)
บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ฟิล์ม, สไลเดอร์ แคท, ซอง ซาวด์ โปรดักชัน
ผู้กำกับ: คงเดช จาตุรันต์รัศมี
นักแสดงนำ: เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ, แพรวา สุธรรมพงศ์
เรื่องย่อ: เรื่องราวระหว่าง ซู (รับบทโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) เด็กสาวกำพร้าแม่ และ เบลล์ (มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์) เพื่อนรักเพื่อนสนิทที่เติบโตผ่านชีวิตมัธยมปลายมาด้วยกันในอำเภอเล็กๆของจังหวัดจันทบุรี ซูเกลียดบ้านเกิดของเธอจับใจ และคิดเสมอว่าสักวันหนึ่งเธอจะหนีไปจากที่นี่ให้ได้ แม้ว่าใครจะทัดทานหรือห้ามปรามเธอก็ตาม
แม้จะเป็นหนังกึ่งนอกกระแสที่มีการเข้าฉายแบบจำกัดโรง แต่ก็นับเป็นภาพยนตร์จากบ้าน BNK48 ที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามที่สุด สำหรับ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ที่นอกจากจะได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่างประเทศทั้งโซนเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน มาเก๊า อินโดนีเซีย โซนยุโรปอย่างสเปน และอิตาลี รวมถึงการข้ามทวีปไปฉายที่ Vancouver Asian Film Festival ประเทศแคนาดา
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคว้ารางวัลจากหลากหลายเวทีทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะรางวัลนักแสดงหญิงนำอย่าง เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ ที่พาบท ซู เด็กสาวผู้เป็นเสมือนแกนหลักของหนังเรื่องนี้ ไปคว้ารางวัล Rising Star จากเทศกาล Busan International Film Festival 2019 ที่ประเทศเกาหลีใต้ และ The Asian Stars: Up Next จาก International Film Festival & Awards ที่มาเก๊ามาแล้ว
การที่เจนนิษฐ์ไม่มีรายชื่อเข้าชิงในสาขานักแสดงนำหญิง จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด จนทางสมาพันธ์ภาพยนตร์ต้องออกมาชี้แจงถึงเกณฑ์การตัดสินและคัดเลือกรายชื่อผู้เข้าชิง ทำให้เจนนิษฐ์พลาดรางวัลนี้ไปอย่างน่าเสียดายด้วยเงื่อนไขของรายได้ภาพยนตร์
ชม Where We Belong ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า บน Netflix
กระเบนราหู (2019)
ไดเวอร์ชัน, มิท เอาท์ ซาวด์ ฟิล์ม, เลส์ ฟิล์มส์ เดอ เลทรองเชร์, ยูคู พิคเจอร์ส, ภูรินทร์ พิคเจอร์ส
ผู้กำกับ: พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง
นักแสดงนำ: อภิสิทธิ์ หะมะ,วัลลภ รุ่งกำจัด
เรื่องย่อ: ชาวประมงหนุ่มผมทอง (รับบทโดย วัลลภ รุ่งกำจัด) บังเอิญช่วยชีวิตผู้ชายแปลกหน้าลึกลับ (รับบทโดย อภิสิทธิ์หะมะ) ที่ถูกซัดมาเกยขึ้นฝั่ง ณ หมู่บ้านติดชายทะเลแห่งหนึ่ง และดูแลชายแปลกหน้าอย่างดี พร้อมตั้งชื่อให้ว่า ธงชัยจนวันหนึ่งที่ชาวประมงหายตัวไป ธงชัยจึงกลายมาเป็นเจ้าของบ้านแทน ทำอาชีพชาวประมงแทน รวมถึงดูแลอดีตภรรยาของชาวประมงด้วย
แม้ในตัวอย่างและเรื่องย่อของ กระเบนราหู จะมีกลิ่นอายความเป็นหนังอาร์ตที่ใครหลายคนขยาด แต่ภายใต้บรรยากาศที่เงียบสงบของหนังและพฤติกรรมแปลกๆของตัวละครหลักทั้งสองตัว กระเบนราหูมีเส้นเรื่องหลักที่จับต้องได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจสิ่งที่ดำเนินไปในหนังได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องปีนบันได้ชม
โดย พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ก็เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่ชาวโรฮิงญา ซึ่งก็สอดคล้องกับเนื้อในภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของชายแปลกหน้าลึกลับที่ได้รับการช่วยชีวิต และถูกมอบชื่อภาษาไทยให้ว่า ธงชัย ตามชื่อของ เบิร์ด-ธงชัย ศิลปินชื่อดังที่เป็นที่นิยมชมชอบของชาวไทย สะท้อนแง่มุมให้ผู้ชมได้ขบคิดต่อถึงตัวตนและอัตลักษณ์ของคนชายขอบกลุ่มนี้
กระเบนราหู เป็นภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์ต่างชาติ และคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขา Orizzonti (โอริสซอนติ แปลว่า Horizons นั่นเอง เป็นรางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนสุนทรียภาพและการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ร่วมสมัยจากนานาชาติ) มาครอบครอง รวมทั้งกวาด 9 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั่วโลกกว่า 50 ประเทศและเข้าชิงถึง 7 สาขาในสุพรรณ์หงส์ครั้งนี้ด้วย
ดิว..ไปด้วยกันนะ (2019)
ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์, คำม่วน-แฮปปี ฮับ เอ็นเตอร์เทนเมนท์
ผู้กำกับ: ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
นักแสดงนำ: ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์, เวียร์ ศุกลวัฒน์
เรื่องย่อ: ภพ (วัยผู้ใหญ่ รับบทโดย เวียร์-ศุกลวัฒน์, วัยเด็ก รับบทโดย นน-ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์) กลับมาที่อำเภอปางน้อยซึ่งเป็นบ้านเกิดเพื่อเตรียมบรรจุเป็นครูมัธยมในโรงเรียนที่เขาเคยเรียนสมัยเด็ก และได้พบกับ หลิว (รับบทโดย ปั๋น–ดริสา การพจน์) ลูกศิษย์วัย 16 ปีที่คล้ายคลึงกับคนสำคัญในความทรงจำของภพอย่างน่าประหลาด
ภาพยนตร์ ดิว..ไปด้วยกันนะ จากมะเดี่ยว-ชูเกียรติ สร้างมาจากภาพยนตร์สั้นของเกาหลีอย่าง Bungee Jumping of Their Own ที่สร้างในปี 2001 โดยถูกนำปรับบทใหม่ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย
แม้จะถูกเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่าบทภาพยนตร์ของดิว..ไปด้วยกันนะ เป็นการพยายามบิดเบือนและทำให้ความรักต้องห้ามระหว่างครูนักเรียนมัธยมปลายดูชวนฝันและเย้ายวนใจเกินความเป็นจริง ทั้งที่ตัวละคร หลิว ยังคงเป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า18 ปี
รวมทั้งการนำรักต้องห้ามของครูนักเรียน มาเปรียบเทียบกับความรักระหว่าง LGBTQ ที่ในอดีตเคยถูกกีดกันเพราะวิทยาการและความรู้ที่ยังไม่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นการเทียบเคียงที่ผิดฝาผิดตัวแบบคนละเรื่อง
แต่กระนั้น ดิว..ไปด้วยกันนะ ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสูงถึง 6 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เพลงประกอบภาพยตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม รวมทั้งในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย
ชม ดิว.. ไปด้วยกันนะ บนเน็ตฟลิกซ์
แสงกระสือ (2019)
ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม, เอ็ม พิคเจอร์ส, ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์, นอร์ธ สตาร์ สตูดิโอผู้กำกับ: สิทธิศิริ มงคลสิริ
นักแสดงนำ: โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์, ภัณฑิรา พิพิธยากร
เรื่องย่อ: เมื่อสาย (ภัณฑิรา พิพิธยากร) เด็กสาวแรกรุ่นในหมู่บ้านอันห่างไกลที่ใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาล ค้นพบว่า แท้จริงแล้วเธอไม่ใช่มนุษย์เหมือนคนอื่น แต่สืบเชื้อสายของกระสือ เผ่าพันธุ์เก่าแก่ในตำนานที่ถ่ายทอดกันผ่านทางน้ำลาย มีเพียงแค่ น้อย (โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) เด็กหนุ่มคนเดียวในหมู่บ้านที่รู้ความจริงและพยายามปกป้องเธอจากการไล่ล่าของชาวบ้านที่หวาดกลัวผีกระสือ และพยายามช่วยรักษาเธอให้หาย ความใกล้ชิดของทั้งสองเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นความรัก ขณะที่อสูรกายอีกสายพันธุ์หนึ่งก็ต้องการหัวใจของสายเพื่อความเป็นอมตะ
แสงกระสือ ผลงานการกำกับของสิทธิศิริ มงคลศิริเรื่องนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเพื่อไปชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 92 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film Award) เมื่อปีที่ผ่านมา
โดยความโดดเด่นที่น่าชื่นชมของแสงกระสือคือการนำตำนานผีไทยอย่างกระสือ มาถ่ายทอดในมุมมองใหม่ โดยเน้นไปที่เรื่องราวความรักต่างสายพันธุ์มากกว่าจะเป็นหนังสยองขวัญชวนขนหัวลุก และสะท้อนมิติอื่น ๆ ของหญิงสาวที่ถูกสังคมไล่ล่าและหวาดกลัวอย่างกระสือ ผ่านการแสดงที่เข้าถึงอารมณ์ของ มินนี่-ภัณฑิรา พิพิธยากร ในบท สาย เด็กสาวผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาลเพื่อรักษาคน แต่กลับพบว่าตนเองไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป
บทภาพยนตร์ที่เข้มข้น ผนวกกับงานภาพและโปรดักชั่นที่ถูกสร้างขึ้นอย่างใส่ใจ และเทคนิคพิเศษ (CG) ที่ทำออกมาได้ค่อนข้างดี ทำให้แสงกระสือได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสูงถึง 13 สาขารางวัล โดยเว้นไว้เพียงสาขาเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม และสารคดียอดเยี่ยมเท่านั้น
ชม แสงกระสือ บน Netflix
ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2019)
จีดีเอช ห้าห้าเก้า, เวรี่ แซด พิคเจอร์ส, แฮปปี้ เอนดิ้ง ฟิล์ม
ผู้กำกับ: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
นักแสดงนำ: ออกแบบ ชุติมณฑ์, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์เรื่องย่อ: จีน (รับบทโดย ออกแบบ ชุติมณฑ์) กำลังวางแผนจะรีโนเวทบ้านของตัวเองให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศสไตล์มินิมัล จีนเลือกทิ้งข้าวของในบ้านที่ไม่จำเป็นทิ้งไป แต่กลับได้พบกับของบางอย่างที่ผูกติดไว้กับความทรงจำที่ทำให้เธอทิ้งมันไม่ลง และพาเธอไปพบกับ เอ็ม (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) แฟนเก่าที่เธอเคยทิ้งเขามาแล้วครั้งหนึ่ง
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นของเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ที่คว้ารางวัลและได้ไปจัดฉายในเวทีต่างประเทศมากมายสำหรับฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (Happy Old Year) รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม GRAND PRIX (BEST PICTURE AWARD) จากเวที Osaka Asian Film Festival ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาอีกด้วย
ฮาวทูทิ้งฯ ถูกเล่าในจังหวะจะโคนแบบเต๋อ เลือกวางจุดเล็กๆเอาไว้ในแต่ละฉากของหนัง เพื่อให้ผู้ชมได้ปะติดปะต่อลากเส้น และมองเห็นสิ่งที่กำลังดำเนินไปในภาพยนตร์ โดยมีออกแบบ-ชุติมณฑ์ ในบทบาทของ จีน ที่พาเราไปเจอกับปัญหามากมายซึ่งดำเนินไปในโลกที่ผู้คนยังยึดติดกับสิ่งของและความทรงจำเก่า
และแน่นอนว่าการเล่าเรื่องที่ซื่อตรง เรียบง่าย รวมทั้งงานภาพพิถีพิถันตามแบบของเต๋อ-นวพล ก็เป็นที่ถูกใจนักวิจารณ์ต่างประเทศกันเป็นทิวแถว โดยในเวทีสุพรรณหงส์ปีนี้ ฮาวทูทิ้งฯ เป็นภาพยนตร์ที่เสนอชื่อเข้าชิงสูงที่สุดถึง 15 สาขา เว้นแค่ในสาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยมและสาขาสารคดียอดเยี่ยมเท่านั้น
อ่านรีวิว ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ
ชม ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ บน Netflix
รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- คงเดช จาตุรันต์รัศมี จาก Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า
- พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง จาก กระเบนราหู
- ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จาก ดิว..ไปด้วยกันนะ
- สิทธิศิริ มงคลศิริ จาก แสงกระสือ
- นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
- ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ จาก ดิว..ไปด้วยกันนะ
- ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ จาก โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง
- โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ จาก แสงกระสือ
- ณเดชน์ คูกิมิยะ จาก อ้าย..คนหล่อลวง
- ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
- พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ จาก Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน
- อารยา เอ ฮาร์เก็ต จาก ตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค
- ภัณฑิรา พิพิธยากร จาก แสงกระสือ
- ราณี แคมเปน จาก อีเรียมซิ่ง
- ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
รางวัลนักแสดงสมบทชายยอดเยี่ยม
- จิรายุ ตันตระกูล จอมขมังเวทย์ 2020
- พันธุ์ธัช กันคำ จาก ดิวไปด้วยกันนะ
- สมชาย เข็มกลัด จาก ไบท์แมน 2
- พงศธร จงวิลาส จาก อ้าย..คนหล่อลวง
- ถิรวัฒน์ โงสว่าง จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
รางวัลนักแสดงสมบทหญิงยอดเยี่ยม
- แพรวา สุธรรมพงษ์ จาก Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า
- หัทยา วงษ์กระจ่าง จาก โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง
- คัทลียา แมคอินทอช จาก อ้าย..คนหล่อลวง
- ษริกา สารทศิลป์ศุภา จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
- อาภาศิริ จันทรัศมี จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม
- School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน
โดย บริษัท อายดรอปเปอร์ ฟิลล์ จำกัด
- ดินไร้แดน
โดย Mobil Lab Project
- ติดถ้ำ
โดย Thai Public Broadcasting Service (Thai PBS)
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน – ชยนพ บุญประกอบ, ทศพล ทิพย์ทินกร, ภัทรนาถ พิบูลย์สวัสดิ์
- Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า – คงเดช จาตุรันต์รัศมี
- ดิว..ไปด้วยกันนะ – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, สรวิชญ์ เมืองแก้ว,
- แสงกระสือ – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล,
- ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
รางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม
- Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ – บริษัท เซอร์เรียล สตูดิโอ จำกัด
- ขุนแผน ฟ้าฟื้น – บริษัท แฟทแคท วีเอฟเอ็กซ์ จำกัด
- จอมขมังเวทย์ 2020 – บริษัท ฮิวแมนฟาร์ม วีเอฟเอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด
- แสงกระสือ – บริษัท ออลเทอร์เนท สตูดิโอ จำกัด, บริษัท ฮิวแมน ฟาร์ม วีเอฟเอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท ดาร์คอาร์มี่ สตูดิโอ จำกัด
- อีเรียมซิ่ง – Riff Studio & Alternate Studio
รางวัลเทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม
- ขุนแผน ฟ้าฟื้น – ณัฐชานันท์ กิติเกรียงไกร
- จอมขมังเวทย์ 2020 – Q FX Studio
- ตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค – อาภรณ์ มีบางยาง
- พี่นาค 2 – ถัถลี จารุจุฑารัตน์, มนตรี วัดละเอียด
- แสงกระสือ – ศิริรัตน์ แจ่มฟ้า
รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
- Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน – สุธี เหมือนวาจา
- ขุนแผน ฟ้าฟื้น – ประภากาศ อังศุสิงห์, สุกัญญา มะเรืองประดิษฐ์
- แสงกระสือ – ชญานุช เสวกวัฒนา
- อ้าย..คนหล่อลวง – สุธี เหมือนวาจา
- ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – พัชรินทร์ สุระวัฒนาพงศ์
รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
- Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า – ราสิเกติ์ สุขกาล
- กระเบนราหู – ศราวุธ แก้วน้ำเย็น
- ขุนแผน ฟ้าฟื้น – พิษณุ วริรักษ์, ชาติชาย ไชยยนต์, สาธิต ประดิษฐสาร
- แสงกระสือ – ศราวุธ แก้วน้ำเย็น
- ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – พัชรนันต์ ตาลานนท์
รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
- Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน – หัวลำโพงริดดิม
- Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า – ป๊อด-ธนชัย อุชชิน
- กระเบนราหู – คริสตีน ออท, มาธิเออ กาบรี
- แสงกระสือ – ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
- ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – ใจเทพ ร่าเริงใจ
รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- “LET U GO” – มิวสิค BNK48, เจนนิษฐ์ BNK48
จาก Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า - “รุ้ง” OMD
จาก ดิวไปด้วยกันนะ - “โดดดิด่ง” – BNK48
จาก ไทบ้าน x BNK 48 จากใจผู้สาวคนนี้ - “พี่ไม่หล่อลวง” – แบมแบม Got7
จาก อ้าย..คนหล่อลวง - เพลง : “ทิ้งแต่เก็บ” – The Toys
จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ
รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม
- Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน – นฤเบศ เปี่ยมใย จาก บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด
- Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า – อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร, สราวุธ พันถา, บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด
- กระเบนราหู – เฉลิมรัฐ กวีวัฒนา, ชาร์ลส์ บุสเซียน, อาร์โนด์ โรลลองด์
- แสงกระสือ – ไวกูญ เหล่าพิพัฒน์ภิญโญ, บริษัท วันคลู ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด
- ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์ จาก บริษัท วันคูล ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด
รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม
- Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน – ปนายุ คุณวัลลี
- Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า – ลี ชาตะเมธีกุล, หรินทร์ แพทรงไทย
- กระเบนราหู – หรินทร์ แพทรงไทย, ลี ชาตะเมธีกุล
- แสงกระสือ – มานุสส วรสิงห์, อภิสิทธิ์ ว่องไวตระการ
- ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต
รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม
- Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า – ม.ร.ว.อัมพรพล ยุคล
- กระเบนราหู – นวโรภาส รุ่งพิบูลโสภิษฐ์
- ดิวไปด้วยกันนะ – นิกร ศรีพงศ์วรกุล
- แสงกระสือ – ภิไธย สมิตสุต
- ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ – นิรมล รอสส